การดำรงสถานะ

กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้น มีหน้าที่สำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายและกลยุทธ์ที่สำคัญของกิจการ และดูแลให้มั่นใจว่าฝ่ายจัดการได้นำนโยบายและกลยุทธ์ไปปฏิบัติตามที่กำหนดไว้เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น คณะกรรมการจึงควรประกอบด้วยผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีองค์ประกอบที่เป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมในการบริหาร และกรรมการที่ไม่มีส่วนร่วมในการบริหาร ในสัดส่วนที่จะทำให้เป็นคณะกรรมการที่มีความรู้ความชำนาญที่หลากหลายเหมาะสมกับธุรกิจและมีการถ่วงดุลอำนาจภายในคณะกรรมการของบริษัทเพื่อให้กรรมการทุกคนแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ และไม่ให้มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดมีอำนาจเหนือการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท

เรื่องรายละเอียด
องค์ประกอบของคณะกรรมการองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. คือ
1. มีกรรมการอิสระอย่างน้อยหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 คน
2. มีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 3 คน
คุณสมบัติของกรรมการอิสระ1. ถือหุ้นไม่เกิน 1% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท* ทั้งนี้ ให้นับรวมการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องของกรรมการอิสระรายนั้นๆ ด้วย
2. ไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจำ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท* เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
 3. ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตหรือโดยการจดทะเบียนตามกฏหมายของกรรมการรายอื่น ผู้บริหารบริษัท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอให้เป็นกรรมการ ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทหรือบริษัทย่อย
 4. ไม่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท* ในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตน รวมทั้งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท* เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
 5. ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท* และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุม หรือหุ้นส่วนของสำนักงานสอบบัญชี ซึ่งมีผู้สอบบัญชีของบริษัท* เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
 6. ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพใดๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งได้รับค่าบริการเกินกว่า 2 ล้านบาทต่อปีจากบริษัท* และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุม หรือหุ้นส่วนของผู้ให้บริการทางวิชาชีพนั้นด้วย เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
 7. ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการของบริษัท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่
 8. ไม่ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัทหรือบริษัทย่อย หรือไม่เป็นหุ้นส่วนที่มีนัยในห้างหุ้นส่วน หรือเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่รับเงินเดือนประจำ หรือถือหุ้นเกิน 1%ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทอื่น ซึ่งประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัทหรือบริษัทย่อย
 9. ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท
* รวมถึงบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท
คุณสมบัติของกรรมการตรวจสอบ1. ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการ หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทให้เป็นกรรมการตรวจสอบ
2. มีคุณสมบัติเป็นกรรมการอิสระ
3. ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท
 4. ไม่เป็นกรรมการของบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย หรือบริษัทย่อยลำดับเดียวกันเฉพาะที่เป็นบริษัทจดทะเบียน
 5. มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในฐานะกรรมการตรวจสอบ ทั้งนี้ ต้องมีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คนที่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงิน
หน้าที่ของกรรมการตรวจสอบ1. สอบทานให้บริษัทมีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเปิดเผยอย่างเพียงพอ
2. สอบทานให้บริษัทมีระบบควบคุมภายในและระบบการตรวจสอบภายในที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และพิจารณาความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ตลอดจนให้ความเห็นชอบการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลิกจ้างหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน หรือหน่วยงานอื่นใดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน
 3. สอบทานให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
 4. พิจารณา คัดเลือก เสนอแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความเป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีและเสนอค่าตอบแทน รวมทั้งเข้าร่วมประชุมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมด้วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
 5. พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกัน หรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่ารายการดังกล่าวสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท
 6. จัดทำรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบโดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีของบริษัท ซึ่งรายงานดังกล่าวลงนามโดยประธานกรรมการตรวจสอบ รายการดังกล่าวควรประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้
  • ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้ของรายงานทางการเงินของบริษัท
  • ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในของบริษัท
  • ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
  • ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้สอบบัญชี
  • ความเห็นเกี่ยวกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
  • จำนวนการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบแต่ละท่าน
  • ความเห็นหรือข้อสังเกตโดยรวมที่คณะกรรมการตรวจสอบได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตร
  • รายการอื่นใดที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบ ภายใต้ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท
 7. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการของบริษัทมอบหมายด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ
การดำเนินการเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการตรวจสอบ หรือเปลี่ยนแปลงขอบเขตหน้าที่1. เมื่อกรรมการตรวจสอบลาออก: บริษัทมีหน้าที่ต้องแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ทันทีผ่านระบบ SETLink พร้อมระบุเหตุผลที่ลาออกด้วย
2. เมื่อแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบ: บริษัทมีหน้าที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ผ่านระบบ SETLink ดังนี้
  • แบบแจ้งรายชื่อและขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ (แบบ F24-1) เพื่อเผยแพร่ต่อผู้ลงทุน ภายใน 3 วันทำการ 
  • หนังสือรับรองและประวัติของกรรมการตรวจสอบ (แบบ F24-2) เพื่อเป็นข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ ภายใน 7 วันทำการ 
3. กรณีเปลี่ยนแปลงขอบเขตหน้าที่งานของคณะกรรมการตรวจสอบ: บริษัทมีหน้าที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ตามแบบ F24-1 ภายใน 3 วันทำการ
การดำเนินการเมื่อกรรมการตรวจสอบน้อยกว่าที่กำหนด1. บริษัทต้องแต่งตั้งให้ครบถ้วนภายใน 3 เดือน นับจากวันที่มีกรรมการตรวจสอบไม่ครบถ้วน 
2. ในระหว่างที่บริษัทไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบให้ครบถ้วนตามที่กำหนด ตลาดหลักทรัพย์จะดำเนินการดังนี้
  1. เมื่อครบ 3 เดือนนับจากวันที่กรรมการตรวจสอบไม่ครบถ้วน : ตลาดหลักทรัพย์จะประกาศรายชื่อและขึ้นเครื่องหมาย CC (เหตุ Non-Compliance)* โดยบริษัทต้องจัดประชุมชี้แจงแนวทางแก้ไขคุณสมบัติ (Public Presentation) ภายใน 15 วันนับจากถูกขึ้นเครื่องหมาย CC
  2. เมื่อขึ้นเครื่องหมาย CC ครบ 3 เดือนแล้ว : ตลาดหลักทรัพย์จะปลดเครื่องหมาย CC และขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) เพื่อห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัท จนกว่าบริษัทจะแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ครบถ้วน
  3. เมื่อขึ้นเครื่องหมาย SP ครบ 2 ปีแล้ว : ตลาดหลักทรัพย์จะประกาศให้เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน พร้อมทั้งขึ้นเครื่องหมาย NC (Non-Compliance) โดยคง SP ไว้ รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์อาจพิจารณาสั่งเพิกถอนต่อไป
    * CC (เหตุ Non-Compliance) เป็นเครื่องหมายเพื่อเตือนผู้ลงทุนถึงบริษัทจดทะเบียนมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจกรณีบริษัทไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ โดยจะต้องซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชีแคชบาลานซ์
3. การรายงานความคืบหน้า
   บริษัทที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP จะต้องรายงานความคืบหน้าการดำเนินการเพื่อแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบต่อ ตลาดหลักทรัพย์ทุกไตรมาสพร้อมกับการนำส่งงบการเงิน หรือภายในวันครบกำหนดส่งงบการเงิน จนกว่าตลาดหลักทรัพย์จะปลด SP ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ให้บริษัทเปิดเผยโดยไม่ชักช้า
การขยายระยะเวลาใน
การแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบ
1. บริษัทต้องทำเป็นหนังสือขอผ่อนผันมายังตลาดหลักทรัพย์ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันครบกำหนดการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบ พร้อมระบุเหตุผลและเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาของตลาดหลักทรัพย์ โดยระยะเวลาผ่อนผันไม่เกินกว่า 6 เดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาที่ต้องแต่งตั้งให้ครบถ้วน
2. ในกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์ผ่อนผันแล้ว บริษัทจะต้องเปิดเผยระยะเวลาที่คาดว่าจะแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ครบถ้วน
3. เหตุจำเป็นและสมควรที่ตลาดหลักทรัพย์อาจพิจารณาผ่อนผันระยะเวลาให้เช่น
  • อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย  สำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน ค.ป.ภ. เป็นต้น
  • อยู่ระหว่างรอคำตอบจากบุคคลที่คณะกรรมการบริษัทหรือคณะกรรมการสรรหาได้ติดต่อทาบทามไว้แล้ว ซึ่งต้องระบุชื่อบุคคลดังกล่าวได้และระบุระยะเวลาที่คาดว่าจะแต่งตั้งได้
  • อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ซึ่งอาจมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริษัททั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด จะต้องจัดส่งเอกสารหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพื่อประกอบการพิจารณาผ่อนผัน

เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน

การดำเนินการกรณีบริษัทจดทะเบียนมีกรรมการตรวจสอบไม่ครบถ้วน

audit_committee_flow
flow_audit_committee_mb
เกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
  • ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 39/2559 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่  
แบบฟอร์ม
ถาม-ตอบ

ไม่จำเป็น แต่กรรมการตรวจสอบจะต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงิน ซึ่งต้องให้คำรับรองตนเองและต้องระบุในแบบ 56-1 One Report ให้ชัดเจนว่ากรรมการรายใดมีคุณสมบัติดังกล่าว

คณะกรรมการตรวจสอบต้องแต่งตั้งจากผู้ที่เป็นกรรมการของบริษัทเท่านั้น และมีความรับผิดชอบเช่นเดียวกับกรรมการอื่นๆ ในคณะกรรมการบริษัท