จัดพอร์ตลงทุน ฉบับคน Gen Z

โดย SET
7-how-to-build-a-portfolio-for-gen-z
Highlight
  • การลงทุนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ ต้องมีการกระจายการลงทุนและการจัดสรรเงินในพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมกับ “ช่วงวัย” และ “ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้”

  • พอร์ตลงทุนที่เหมาะกับคน Gen Z คือ พอร์ตเชิงรุก (Aggressive Portfolio) ที่สามารถเน้นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้น หรือกองทุนรวมหุ้นได้ถึง 70%- 90% ของพอร์ต ส่วนอีก 10% - 30% ที่เหลือ ควรเก็บไว้ในรูปของเงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน และตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ ที่มีความปลอดภัยของเงินต้นสูง

หากมั่นใจว่ารู้จักตัวเองดีแล้ว เข้าใจสิ่งที่จะลงทุนเรียบร้อยแล้ว แต่ “วัยรุ่น” ก็อย่าเพิ่งใจร้อน เพราะการลงทุนที่ดีและมีโอกาสประสบความสำเร็จ ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งภาษาของนักลงทุนจะเรียกกันว่า “บริหารพอร์ตลงทุน

 

หลักการง่าย ๆ ในการบริหารพอร์ตลงทุนให้สำเร็จ คือ การกระจายความเสี่ยง หรือการกระจายการลงทุน ไม่ลงทุนในสินทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งเพียงอย่างเดียว เปรียบเทียบง่าย ๆ ว่า “อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน” โดย “ตะกร้า” ก็คือ การลงทุนในสินทรัพย์อะไรสักอย่างหนึ่ง และ “ไข่” ก็คือ เงินลงทุนทั้งหมดที่เรามี ถ้าโชคร้ายตะกร้าใบนั้นเกิดตกลงพื้น ไข่ก็แตกหมด แต่ถ้าเรามีตะกร้าหลายใบ แถมยังแบ่งไข่ไปใส่ในแต่ละตะกร้ามากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกัน เวลาเกิดอุบัติเหตุกับตะกร้าใบหนึ่ง ก็ยังเหลือไข่ในตะกร้าใบอื่น ๆ ดังนั้น อย่าทุ่มไปที่สินทรัพย์อย่างเดียวจนหมดใจ เพราะถ้าไม่เป็นอย่างที่หวัง ระวังจะเจ็บหนัก! ต้อง “เผื่อใจเอาไว้” บ้าง!

 

แต่การกระจายการลงทุนที่ดี ก็ไม่ใช่ว่า... การลงทุนในโลกนี้มีกี่ประเภทก็จัดเต็มไปทุกอย่าง เพราะการลงทุนที่หลากหลายมากเกินไป ก็ทำให้วุ่นวาย สิ่งที่สำคัญ คือ หากจะลงทุนอะไร ก็ต้องทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ และหมั่นติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราก็ไม่ใช่ยอดมนุษย์ที่จะเก่งไปทุกเรื่อง ดังนั้น เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่คิดว่าเรา “แจ๋วจริง” และ “เจ๋งพอ” จะดีกว่า


นอกจากต้องมีการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงแล้ว ยังต้องเป็นการกระจายการลงทุนที่มีการจัดสรรสัดส่วนการลงทุนอย่างเหมาะสมด้วย ซึ่งความเหมาะสมสามารถตัดสินได้จาก “อายุ” และ “ระดับการยอมรับความเสี่ยง” ของเรา

ลักษณะสำคัญของคน Gen Z (เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ขึ้นไป)

เป็นคนที่เกิดในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว ก็จะเรียนรู้เร็วและชอบศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากในอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนโดยไม่รู้ไปได้ แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ ความมีวินัยและความมั่นคงในการรอคอย เพราะคนวัยนี้ส่วนใหญ่มักจะชอบอะไรที่สั้น ๆ ไม่ต้องใช้ระยะเวลานาน ดังนั้น จึงต้องปรับพฤติกรรมให้สามารถลงทุนได้อย่างมีวินัย และอดทนจนกว่าจะเห็นผลตอบแทนที่ชัดเจนในระยะยาว เพื่อให้พอร์ตลงทุนของเราประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้มากที่สุด

 

ลักษณะพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมสำหรับคน Gen Z

หากเรายังอยู่ในวัยเรียนหรือเพิ่งเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน อาจยังไม่มีเงินลงทุนมากมายนัก แต่เราสามารถจัดสรรเงินลงทุนส่วนใหญ่ไปอยู่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อเน้นเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาวได้ เช่น กองทุนหุ้น หุ้น หรืออนุพันธ์ก็ยังได้ จากนั้นค่อยจัดสรรเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ เพราะวัยนี้อายุยังน้อย ยังโสด ไม่มีภาระทางการเงินมากมายเหมือนคนที่มีครอบครัวแล้ว แถมยังมีเวลาให้ผ่านร้อนผ่านหนาวได้อีกหลายสิบปี

 

ดังนั้น พอร์ตลงทุนที่เหมาะสมของคน Gen Z ก็คือ พอร์ตลงทุนแบบเชิงรุก (Aggressive Portfolio) ที่เน้นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้น หรือกองทุนรวมหุ้นได้ถึง 70% - 90% ของพอร์ต โดยควรเลือกหุ้นของบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงทางการเงิน จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และมีโอกาสเติบโตในอนาคต ส่วนอีก 10% - 30% ที่เหลือ ควรลงทุนในเงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน และตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ ที่มีความปลอดภัยของเงินต้นสูง ได้อัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน เพื่อให้มีสภาพคล่อง เผื่อกรณีฉุกเฉินที่ต้องการใช้เงินในเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่าง ๆ

7-how-to-build-a-portfolio-for-gen-z_2

แม้ “ช่วงวัย” หรือ “อายุ” จะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดสรรเงินลงทุน แต่ที่จริงยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ด้องพิจารณาควบคู่ไปด้วย เช่น สถานภาพทางการเงิน วัตถุประสงค์การลงทุน ระยะเวลาในการลงทุน อาชีพ หน้าที่การงาน ไปจนถึงภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะทำให้แต่ละคนสามารถยอมรับความเสี่ยงและมีการจัดสรรเงินในพอร์ตลงทุนที่แตกต่างกัน เช่น บางคนแม้จะอยู่ในช่วงวัยที่รับความเสี่ยงได้มาก แต่ไม่สบายใจที่ต้องเห็นเงินลงทุนของตัวเองลดน้อยลงหรือหายไป ก็เท่ากับว่าคน ๆ นี้ “รับความเสี่ยงได้น้อย” ไม่ควรให้เงินลงทุนส่วนใหญ่ไปอยู่ที่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงนั่นเอง

ดังนั้น นอกจากศึกษาทฤษฎีให้เข้าใจแล้ว ก็อย่าลืมเอาปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์และปรับใช้ให้เหมาะกับเงื่อนไขของตัวเอง ที่สำคัญจะต้องหมั่นทบทวนพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอ มีวินัย คอยติดตามสถานการณ์การลงทุน และปรับพอร์ตหากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ เพียงเท่านี้... พอร์ตลงทุนที่เราสร้างมากับมือก็จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินต่าง ๆ ในชีวิตได้แล้ว

สำหรับใครที่สนใจอยากรู้เทคนิคและกระบวนการบริหารพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ครบเครื่องเรื่องบริหารพอร์ตลงทุน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

ทำแบบทดสอบวัดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้เพื่อหาสัดส่วนพอร์ตลงทุนที่เหมาะสม คลิก

ทดลองจัดสรรพอร์ตลงทุนก่อนลงสนามจริง คลิก



บทความที่เกี่ยวข้อง