วางแผนเก็บเงินส่งลูกเรียนต่อต่างประเทศ ด้วย 3 ขั้นตอน เริ่มต้นที่ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน สำรวจค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และวางแผนการเงิน เพื่อกำหนดแผนการออมสู่เป้าหมาย
“เดี๋ยวนี้หน้าที่การงานที่มั่นคงหายากขึ้นและในอนาคตการแข่งขันก็จะสูงขึ้นกว่าปัจจุบันอีก
อยากให้ลูกได้ไปเรียนต่อในต่างประเทศจะได้เปิดโลกกว้าง ได้ทั้งความรู้และประสบการณ์ใช้ชีวิต”
หากคุณเป็นหนึ่งในพ่อแม่มนุษย์เงินเดือนที่คิดเช่นนี้ และเชื่อว่าการส่งลูกไปเรียนต่อในต่างประเทศเพื่อให้ลูกได้นำความรู้และวิทยาการต่าง ๆ มาต่อยอดความคิด ซึ่งจะช่วยสร้างอนาคตในหน้าที่การงานที่ดีในระยะยาวได้ แต่ก็ยังกังวลว่ามนุษย์เงินเดือนอย่างเราจะทำได้เหรอ
ลองทำตาม “3 ขั้นตอนส่งลูกโกอินเตอร์ สไตล์มนุษย์เงินเดือน” ดังนี้
1
ตั้งเป้าหมายการส่งลูกศึกษาต่อ
โดยพิจารณาความพร้อมของลูกและฐานะทางการเงินของเราในปัจจุบัน หากมีรายได้มากและมั่นคง ก็สามารถส่งลูกไปศึกษาต่อได้ตั้งแต่ระดับมัธยมถึงมหาวิทยาลัย แต่หากมีฐานะปานกลางและต้องการรอให้ลูกสามารถดูแลตัวเองได้แล้ว ก็อาจเลือกวางแผนให้ลูกศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโทซึ่งใช้เวลา 1-2 ปีแทน
2
สำรวจค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
พร้อมประเมินเผื่ออัตราแลกเปลี่ยนและอัตราเงินเฟ้อด้วย เพราะระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเก็บออมไปจนถึงเวลาที่ต้องใช้เงินจริงค่อนข้างยาวนาน เก็บเงินเผื่อไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย ยกตัวอย่างการส่งลูกเรียนต่อในระดับปริญญาโทในประเทศอังกฤษ ใช้เวลาเรียนเพียง 1 ปี มีค่าใช้จ่ายโดยประมาณดังนี้- ค่าเล่าเรียน 15,000 - 20,000 ปอนด์ต่อหลักสูตร
- ค่าที่พัก 5,000 - 7,500 ปอนด์ต่อปี
- ค่ากินอยู่ ค่าเดินทางและใช้จ่ายทั่วไป 7,000 - 10,000 ปอนด์ต่อปี
รวมทั้งสิ้นประมาณ 27,000 - 37,500 ปอนด์หรือประมาณ 1.5 - 2 ล้านบาท ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามค่าครองชีพในแต่ละเมือง ไลฟ์สไตล์ของการใช้ชีวิต และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา แถมบางมหาวิทยาลัยก็มีการเพิ่มค่าเล่าเรียนในอัตรา 5% - 10% ทุกปีอีกด้วย
3
รีบวางแผนการเงินให้เร็วที่สุด
เริ่มต้นจากสำรวจรายรับรายจ่ายของสามีภรรยาดูว่า สามารถจัดสรรเงินออมมาลงทุนในด้านการศึกษาบุตรได้มากขนาดไหน โดยไม่กระทบกับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อเป้าหมายอื่น ๆ ของครอบครัว จากนั้นก็กำหนดแผนการเก็บออมอย่างมีวินัยภายในระยะเวลาที่ตั้งใจไว้ ยิ่งเริ่มออมเร็วยิ่งมีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้เร็ว และยิ่งเลือกช่องทางการออมที่เหมาะสมกับระยะเวลาและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้แล้ว ดีไม่ดีอาจมีเงินมากพอให้ลูกไปเรียนต่อได้ไกลเกินฝันก็ได้ตัวอย่าง : เป้าหมาย คือ ออมเงินเพื่อการศึกษาต่อต่างประเทศของลูก 1,500,000 บาท
แผนออมเงิน :
- วิธีที่ 1 : ออมเงินตั้งแต่ลูกเริ่มเรียนปริญญาตรี
มีระยะเวลาออม 4 ปี พ่อแม่ควรเลือกออมเงินในสินทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงไม่สูงมากนัก ถึงผลตอบแทนจะไม่สูงมากนัก แต่ก็ยังช่วยเพิ่มโอกาสเติบโตของเงินลงทุนได้บ้าง โดยจัดสรรเงินมาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ ประมาณเดือนละ 29,700 บาท จำนวน 48 เดือน ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.45% ต่อปี ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายออมเงินเพื่อการศึกษาต่อต่างประเทศได้ตามที่ฝันไว้
(หมายเหตุ: คำนวณแบบทบต่อปี อ้างอิงผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้แบบอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ตั้งแต่ปี 2556 – 2566 อยู่ที่ 3.45% ต่อปี)
- วิธีที่ 2 : ออมเงินตั้งแต่ลูกแรกเกิด
โดยทยอยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่มีผลการดำเนินงานในอดีตดีอย่างสม่ำเสมอ เพราะวิธีนี้มีระยะเวลาออมเงินมากกว่า 20 ปี ทำให้เงินออมมีโอกาสเติบโตได้สูง เพียงแค่จัดสรรเงินมาลงทุนเดือนละ 1,500 บาท ในปีแรก และในปีถัด ๆ มาให้เพิ่มเงินลงทุนอย่างน้อย 10% ต่อเดือนไปเรื่อย ๆ เมื่อลูกจบปริญญาตรีตอนอายุ 22 ปี จะมีเงินทุนการศึกษาต่อต่างประเทศได้ประมาณ 1,735,257 บาทเลยทีเดียว
![64_ส่งลูกโกอินเตอร์ ฉบับพ่อแม่มนุษย์เงินเดือน_A]()
จากแผนออมเงินข้างต้น ควรเลือกแผนที่เหมาะสมกับฐานะการเงินของครอบครัว ซึ่งจะเห็นว่า ถ้าพ่อแม่เริ่มวางแผนตั้งแต่ลูกยังเล็ก จะสามารถทยอยสะสมเงินออมทีละเล็กทีละน้อยจนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นเงินทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทในต่างประเทศของลูกได้ ไม่ยากเกินความสามารถของพ่อแม่มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายอยู่แล้ว
สำหรับใครที่สนใจเรียนรู้แนวทางวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายชีวิต และการใช้เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ ในการสำรวจสถานะทางการเงินของตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “WMD1002 : ชีวิตดี เริ่มต้นที่การวางแผน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่