วัยรุ่นอย่างเรา... ลงทุนอะไรได้บ้างนะ?

โดย SET
5-what-investment-opportunities-are-suitable-for-teenagers
Highlight
  • ปัจจุบันการฝากเงินในธนาคารเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้เงินออมเติบโตมาสู้กับเงินเฟ้อได้ “การลงทุน” จึงกลายเป็นทางออกสำหรับคนที่อยากมีชีวิตที่ดี มีอิสรภาพทางการเงิน ทำตามความฝันของตัวเองได้

  • ก่อนเริ่มลงทุน ต้องทำความรู้จักตัวเองและเข้าใจสิ่งที่จะลงทุนให้ดีเสียก่อน เพื่อเลือกลงทุนให้เหมาะกับตัวเอง และอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ก็ไม่อยากจะทำให้ “วัยรุ่นเซ็ง” หรอกนะ เพราะรู้ว่ากว่าจะเอาชนะ “ความอยาก” กว่าจะอดใจให้อดออมได้ในแต่ละเดือนก็เลือดตาแทบกระเด็น แต่สมัยนี้แค่เงินออมอย่างเดียว คงไม่พอที่จะทำให้เงินเติบโตมาสู้กับเงินเฟ้อได้ทัน เมื่ออุตส่าห์อดออมจนมี “เงินก้อนเล็ก ๆ” สักก้อน อย่าลืมคิดถึงเรื่องการลงทุน เพราะการลงทุนเป็นการต่อยอดเงินออมไปสู่ความมั่งคั่ง ดังนั้นแค่เปลี่ยนจากการออม มาเป็นลงทุนแทน ชีวิตที่มีอิสรภาพ ทำตามความฝันของตัวเองได้ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ก่อนจะไปเริ่มต้นลงทุนคงต้อง “ขอเสียงวัยรุ่นหน่อย... พร้อมที่จะลงทุนกันแล้วหรือยัง” ถ้าพร้อมก็มาเริ่มกันเลย!!!

รู้จักตัวเอง

เจอหัวข้อนี้ น่าจะมีเสียงค้านในใจหลายเสียงเลยว่า เกิดมาจนจะทำงานมีรายได้เป็นของตัวเองอยู่แล้ว จะมาบอกว่า “ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจตัวเอง...เป็นไปไม่ได้” แต่เชื่อเถอะมันเป็นไปได้จริง ๆ

 

ถ้าไม่เชื่อ ลองถามตัวเองดูว่า ณ วันนี้ วันที่เราจะเริ่มลงทุน เรารู้หรือยังว่า เราตั้งเป้าหมายอะไรไว้สำหรับการลงทุน เพราะการมีเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญมาก การลงทุนที่มีเป้าหมายต่างกัน อาจต้องลงทุนในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น การลงทุนเพื่อวัยเกษียณ จะมีรูปแบบการลงทุนเพื่อหวังผลกำไรในระยะยาว

 

ถ้าไม่เชื่อ ลองถามตัวเองดูว่า เรายอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน เคยถามตัวเองหรือยังว่า เงิน 100 บาทที่ลงทุนไป จะยอมให้ขาดทุนได้สักกี่บาท หากบอกว่าหายไปไม่ได้แม้แต่บาทเดียว นั่นเรียกว่า “กลัวสุด ๆ” เพราะ ความเสี่ยง คือ โอกาสที่เราจะไม่ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนตามที่คิดไว้ ซึ่งการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง เพียงแต่จะมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ความเสี่ยงกับผลตอบแทนที่คาดหวังยังมีความสัมพันธ์กันด้วย ถ้าเราอยากได้ผลตอบแทนมาก ๆ ก็ต้องทำใจเอาไว้ด้วยว่า การลงทุนนั้นจะมีโอกาสขาดทุนสูงด้วยเช่นกัน แล้วกล้าไหมที่จะลอง? ถ้าไม่กล้าเสี่ยงก็ลองลดระดับ “เป้าหมาย” ลงมาสักหน่อยให้เหมาะกับความสามารถ แม้ผลตอบแทนอาจจะน้อยลงสักนิด แต่โอกาสผิดหวังก็จะน้อยลงตามไปด้วย

Tips

ทำแบบทดสอบวัดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ คลิก

เข้าใจสิ่งที่จะลงทุน

เมื่อรู้จักตัวเอง รู้เป้าหมายการลงทุน และ รู้ว่าเสี่ยง...แต่ยังต้องขอลอง แล้ว ก็ต้องไปทำความรู้จักสิ่งที่เราจะลงทุนกันก่อน เพราะทุกวันนี้มีช่องทางให้เลือกลงทุนมากมาย และนับวันจะยิ่งมีให้เลือกมากขึ้น ๆ ทุกที ไม่ว่าจะเป็น การฝากเงินกับธนาคาร ประกันออมทรัพย์ สลากออมสิน ก็ถือเป็นการลงทุนเช่นเดียวกัน แต่วัยรุ่นอย่างเรา ถ้ากล้าที่จะลงทุนแล้วก็ลองมาทำความรู้จักกับสินทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงมากหน่อย เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนกันดีกว่า นั่นก็คือการลงทุนใน “หุ้นและกองทุนรวม”

 

หุ้น ถ้าก่อนหน้านี้บอกว่า ไม่เคยได้ยินคำว่า “หุ้น” หรือ “ตลาดหุ้น” ยังพอให้อภัย แต่ถ้านับจากวันนี้ไปแล้วไม่ทำความรู้จักกับหุ้นสงสัยจะมีเคือง เพราะหุ้นเป็นเครื่องมือที่ทำให้เงินลงทุนมีโอกาสงอกเงยได้มากและไม่ใช่เรื่องยาก ลองมาดูกันว่า ผลตอบแทนจากการ “ถือหุ้น” ในฐานะเป็น “เจ้าของกิจการ” จะมีอยู่ 2 ทาง คือ เงินปันผล และกำไรจากซื้อขาย  

 

เงินปันผล (Dividend) คือ ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการถือหุ้นเมื่อบริษัทที่เรา (มีส่วนร่วม) เป็นเจ้าของมีกำไรจากการทำธุรกิจ โดยบริษัทจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น ในอัตราหุ้นละเท่า ๆ กัน ยิ่งมีหุ้นจำนวนมาก ก็จะได้ผลตอบแทนมากตามไปด้วย แต่หากบางครั้งเราเข้าไปลงทุนในบริษัทที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ หรือต้องใช้เงินในการขยายธุรกิจ บริษัทก็อาจยังไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้

 

แต่อย่าเพิ่งตกใจไป หากเราไม่ได้รับเงินปันผล เราก็ยังสามารถทำกำไรจากการซื้อขายหุ้นได้ หรือที่เรียกว่า “ส่วนต่างราคา” (Capital Gain) ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราสามารถซื้อหุ้นในราคาถูกแล้วมาขายเมื่อราคาแพง หรือพูดง่าย ๆ ว่า “ซื้อถูก ขายแพง” และที่สำคัญ คือ แม้เราจะมีเงินออมอยู่เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถเริ่มต้นลงทุนในหุ้นได้ เพียงแค่ติดต่อไปที่บริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ซึ่งบางแห่งกำหนดอายุขั้นต่ำในการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ไว้ที่อายุเพียง 20 ปีบริบูรณ์เท่านั้น และอาจเริ่มต้นด้วยการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นแบบ Cash Balance โดยเราต้องนำเงินไปฝากไว้ที่โบรกเกอร์ และสามารถซื้อหุ้นได้ตามจำนวนเงินที่เราไปฝากเอาไว้เท่านั้น ซึ่งโบรกเกอร์หลายแห่งไม่ได้กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำเอาไว้ ทำให้นักลงทุนมือใหม่ที่มีเงินออมไม่กี่พันบาท ก็สามารถเริ่มต้นลงทุนได้

 

นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่อย่างเรา ๆ ยังควรใช้บริการซื้อขายหุ้นผ่านอินเทอร์เน็ต เพราะสามารถส่งคำสั่งซื้อขายแค่ 100 - 200 หุ้นได้ โดยไม่ต้องอายใคร รวมถึงค่าธรรมเนียม หรือค่าคอมมิชชันสำหรับซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต ก็ต่ำกว่าการส่งคำสั่งซื้อขายผ่านผู้แนะนำการลงทุน (IC) ด้วย
Tips

ศึกษาข้อมูลเรื่องหุ้นเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน คลิก

Tips

เปิดบัญชีหุ้น คลิก

กองทุนรวม เป็นการระดมเงินลงทุนจำนวนน้อย ๆ จากคนจำนวนมาก ๆ ไปรวมกัน เพื่อนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ตามนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุน และมีชื่อเรียกต่างกันไปตามนโยบายการลงทุน เช่น กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมตราสารหนี้ ทั้งนี้ กองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุน ซึ่งถือว่าเป็น “มืออาชีพ” ด้านการลงทุน มาคอยศึกษาว่าหุ้นตัวไหนจะอนาคตดี ตราสารหนี้อะไรที่น่าสนใจ คอยติดตามสถานการณ์การลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีผลต่อการลงทุน และคอยซื้อขายเพื่อทำกำไรเมื่อมีจังหวะที่ดี

 

เมื่อมี “มืออาชีพ” มาคอยดูแลเงินของเราอย่างใกล้ชิดแบบนี้แล้ว เราก็เลยไม่ต้องกังวลกับการลงทุนมากนัก เพราะอย่างน้อย “มืออาชีพ” ก็น่าจะทำให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า “นักลงทุนมือใหม่” ที่มีความรู้ด้านการลงทุนแบบงู ๆ ปลา ๆ อย่างเรา

Tips

ศึกษาข้อมูลเรื่องกองทุนรวมเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน คลิก

Tips

เปิดบัญชีกองทุนรวม คลิก

สำหรับการลงทุนในหุ้นนั้นต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจโดยรวม วิเคราะห์สภาวะอุตสาหกรรมของบริษัทที่เราสนใจลงทุน และยังต้องอาศัยทักษะความรู้ในการวิเคราะห์งบการเงินต่าง ๆ เพื่อประเมินมูลค่าที่ควรจะเป็นของหุ้นในธุรกิจที่เราสนใจ ดังนั้น หากคิดว่าตัวเองมีความพร้อมที่จะลงทุนในหุ้นแล้ว ก็ลงมือศึกษาข้อมูลและเริ่มลงทุนได้เลย แต่สำหรับคนที่เป็นมือใหม่อยากเริ่มลงทุน ประสบการณ์ลงทุนน้อย ไม่มีเวลาติดตามข้อมูล และมีเงินลงทุนไม่มากนัก ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะกองทุนรวมก็สามารถเป็นตัวช่วยพาเราไปถึงเป้าหมายได้เช่นกัน

สำหรับใครที่สนใจอยากรู้เทคนิคลงทุนสม่ำเสมอแบบ DCA ในหุ้นดี กองทุนเด่น เพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนลงทุนสม่ำเสมอด้วยหุ้นและกองทุน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่



บทความที่เกี่ยวข้อง