เรื่องควรรู้ก่อนกู้ กยศ.

โดย SET
3-what-to-know-before-applying-for-a-student-loan
Highlight
  • กยศ. หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนที่มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษา โดยไม่คิดดอกเบี้ยระหว่างที่ศึกษาอยู่ แต่ต้องชำระเงินคืนหลังจากจบการศึกษาแล้ว

  • ผู้ที่สามารถกู้ กยศ. ได้ มีทั้งนักเรียนและนักศึกษา โดยนักเรียนจะเริ่มตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย (สายสามัญและสายอาชีพ) และอาชีวศึกษา

  • วงเงินที่สามารถกู้ยืมได้นั้น จะแบ่งตามระดับการศึกษาและสาขาวิชาที่ผู้กู้ศึกษาอยู่ โดยแบ่งออกเป็นวงเงินสำหรับค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ

“อยากกู้ยืมเงิน กยศ. เป็นทุนการศึกษาต้องทำอย่างไร? ต้องเตรียมอะไรบ้าง? 
แล้วจะได้วงเงินกู้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายขนาดไหน?”

กยศ. คืออะไร?

กยศ. หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนหมุนเวียนที่มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษา โดยการสนับสนุนค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ ให้กับนักเรียนและนักศึกษาที่มีความจำเป็น โดยไม่คิดดอกเบี้ยระหว่างที่ศึกษาอยู่ แต่ต้องชำระเงินคืนหลังจากจบการศึกษาแล้ว เหมาะสำหรับผู้ที่มีทุนทรัพย์ไม่มาก ต้องการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว หรือต้องการบริหารจัดการเงินเพื่อการศึกษาด้วยตนเอง

เช็คคุณสมบัติ เราจะสามารถกู้ กยศ. ได้หรือไม่?

หลายคนคิดว่า... การกู้ กยศ. สามารถทำได้เฉพาะ “นักศึกษา” ที่เรียนในระดับปริญญาตรีเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว  “นักเรียน” ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ไปจนถึง “นักศึกษา” ในระดับปริญญาตรี ก็สามารถกู้ กยศ. ได้ โดยจะแบ่งลักษณะในการกู้ออกเป็น 4 ลักษณะ คือ

1.    เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ (ครอบครัวมีรายได้ไม่เกินปีละ 360,000 บาท)
2.    เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคน และมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
3.    เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลน หรือที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ
4.    เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ  

ศึกษาคุณสมบัติอย่างละเอียด คลิก

วงเงินและขอบเขตการให้เงินกู้ยืมเป็นอย่างไร?

วงเงินที่แต่ละคนจะสามารถกู้ยืมได้นั้น จะแบ่งออกตามระดับการศึกษาและสาขาวิชาที่ผู้กู้ศึกษาอยู่ โดยแบ่งออกเป็นวงเงินสำหรับ ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ซึ่งจะไม่เกินอัตราที่สถานศึกษาเรียกเก็บในแต่ละหลักสูตร รวมไปถึง ค่าครองชีพ ดังตัวอย่างในตารางนี้
3-what-to-know-before-applying-for-a-student-loan_2

หมายเหตุ : รายละเอียดกรอบวงเงินอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายในแต่ละปี ดูรายละเอียดกรอบวงเงินในแต่ละสาขาวิชา คลิก 


ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ศึกษาอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งนาย ก. มีคุณสมบัติที่ผ่านเข้าเกณฑ์ของผู้กู้ กยศ. ทั้งหมด โดยกรอบวงเงินค่าเล่าเรียนระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ อยู่ที่ 70,000 บาท แต่ค่าเทอมต่อปีของมหาวิทยาลัยของนาย ก. อยู่ที่ 60,000 บาทต่อปี ดังนั้น หากนาย ก. ทำเรื่องกู้ยืมเงินกับ กยศ. นาย ก. จะได้วงเงินกู้ยืมค่าเล่าเรียนที่ 60,000 บาท พร้อมกับค่าครองชีพที่ 3,000 บาทต่อเดือน 

ค่าครองชีพที่ได้จาก กยศ. เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือไม่?

ต้องขอบอกก่อนเลยว่า... ใครที่คิดจะกู้ กยศ. แล้วหวังว่าจะใช้เงินค่าครองชีพที่ได้มา เป็นแหล่งรายได้สำหรับค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตเพียงแหล่งเดียว อาจไม่ใช่ความคิดที่เหมาะสม เพราะเงินค่าครองชีพที่ได้รับจาก กยศ. อาจไม่เพียงพอในกรณีที่เรายังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้วย เช่น ค่าที่พักอาศัย ค่าเดินทาง และค่าอุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ ไม่นับรวมค่าอาหารที่เป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐานสำหรับทุกคนอยู่แล้ว 

หากคิดแบบง่าย ๆ ว่าเราได้ค่าครองชีพที่ 3,000 บาทต่อเดือน นั่นเท่ากับว่า เราต้องบริหารการใช้เงินให้ได้เพียงวันละ 100 บาทเท่านั้น ดังนั้น หากเราต้องการมีเงินให้เพียงพอกับการใช้จ่าย โดยไม่ต้องเดือดร้อนผู้ปกครองเพิ่มเติม ทางเลือกก็คือ การใช้จ่ายอย่างประหยัด และการหารายได้เสริมนั่นเอง 

อย่าลืมว่า... วัตถุประสงค์ของการกู้ กยศ. ก็เพื่อการศึกษา ดังนั้น หน้าที่ของเรา คือ การศึกษาเล่าเรียนให้ดีที่สุดเพื่อวางรากฐานความมั่นคงให้กับอนาคตข้างหน้า และที่สำคัญ เมื่อกู้เงินมาแล้ว ก็ต้องชำระคืน หากเราศึกษาจบ มีรายได้เป็นของตัวเอง ก็อย่าลืมวางแผนชำระหนี้เพื่อส่งต่อโอกาสนี้ให้กับรุ่นน้องของเราด้วย ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.studentloan.or.th

สำหรับใครที่สนใจอยากรู้แนวทางในการวางแผนบริหารจัดการหนี้ เพื่อให้มีเงินเหลือใช้ และสามารถเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนลดหนี้มีออม สำหรับบัณฑิตยุคใหม่” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่



บทความที่เกี่ยวข้อง