บริหารค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สินอย่างไร... ให้เกษียณสุข

โดย SET
71-how-to-manage-expenses-and-debts-for-a-happy-retirement
Highlight

เมื่อถึงวัยใกล้เกษียณควรบริหารค่าใช้จ่ายให้รอบคอบมากขึ้น และควรปลดภาระหนี้สินที่มีอยู่ให้เร็วที่สุด เพราะเหลือเวลาแก้ตัวอีกไม่มากหากเกิดความผิดพลาด ลองเริ่มบริหารค่าใช่จ่ายและหนี้สินด้วยการจดบันทึกรายได้ค่าใช้จ่ายและลดภาระหนี้สินให้หมดก่อนวัยเกษียณ

“ทุกวันนี้ใช้เงินเดือนชนเดือนตลอด จะวางแผนชีวิตหลังเกษียณยังไงดี?”
“ที่ผ่านมาใช้ชีวิตสุขสบาย จนหนี้ท่วมหัว จะปลดหนี้ให้หมดก่อนเกษียณคงเป็นเรื่องยาก”

ไม่ว่าที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร จะล้มลุกคลุกคลานมากี่ครั้ง หรือ ใช้ชีวิตติดหรูมาแค่ไหน เมื่อถึงวัยเกษียณคงต้องมาตั้งต้นกันใหม่ โดยเฉพาะการบริหารค่าใช้จ่ายให้รอบคอบมากขึ้น และการปลดภาระหนี้สินที่มีอยู่ให้เร็วที่สุด เพราะเหลือเวลาแก้ตัวอีกไม่มากหากเกิดความผิดพลาด ลองเริ่มที่ “2 เคล็ดลับบริหารค่าใช่จ่ายและหนี้สินให้อยู่หมัด” แล้วชีวิตน่าจะสบายขึ้น

1
จดบันทึกรายได้ค่าใช้จ่าย

ในแต่ละเดือนต้องวางแผนการใช้จ่ายให้ชัดเจนว่า จะมีค่าใช้จ่ายอะไร เป็นเงินเท่าไร และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องควบคุมให้เป็นตามแผนที่วางไว้ด้วย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ การจดบันทึกรายได้ค่าใช้จ่าย เพราะนอกจากจะรู้ว่าทุกบาททุกสตางค์ที่ออกจากกระเป๋าเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ป้องกันเงินรั่วไหลหรือไม่เป็นไปตามแผนแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย

2
ลดภาระหนี้สิน

ถ้าจะให้ดี ก่อนเกษียณสัก 4-5 ปี ควรจะเริ่มสำรวจหนี้สินว่า ยังมีหนี้อะไร อยู่ตรงไหนบ้าง จำนวนเงินต้นมากน้อยแค่ไหน และดอกเบี้ยเท่าไร จากนั้นให้เพิ่มจำนวนเงินที่จะจ่ายหนี้ในแต่ละเดือนให้มากขึ้น โดยอาจจะนำไปปลดหนี้ที่...

  • ดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเหมาะกับ “หนี้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยแบบทบต้นทบดอก” เพราะยิ่งผ่อนให้เงินต้นลดลงเร็วก็จะยิ่งเสียดอกเบี้ยน้อย หรือ
  • มูลหนี้คงเหลือน้อยที่สุดก่อน เพื่อลดจำนวนเจ้าหนี้ และทำให้มีเงินเหลือไปจ่ายหนี้รายอื่นได้มากขึ้น ซึ่งเหมาะกับ “หนี้ที่คิดดอกเบี้ยคงที่” เพราะไม่ว่าจะผ่อนให้หมดเร็วหรือช้า เจ้าหนี้ก็คิดดอกเบี้ยรวมในเงินผ่อนแต่ละเดือนอยู่แล้ว

ตัวอย่าง คุณอัมพร กำลังจะเกษียณในอีก 5 ปี มีภาระหนี้สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตอยู่กับสถาบันการเงิน 3 แห่ง โดยมียอดที่ต้องผ่อนขั้นต่ำต่อเดือน 7,000 บาท ดังนั้น เพื่อเร่งปลดหนี้ให้เร็วขึ้น จึงเพิ่มจำนวนเงินผ่อนมาเป็น 10,000 บาท

71-how-to-manage-expenses-and-debts-for-a-happy-retirement_01

หากคุณอัมพรเลือกปลดหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน ในแต่ละเดือนจะผ่อนให้สถาบันการเงิน ข. และ ค. ตามยอดขั้นต่ำ คือ 2,000 + 1,000 = 3,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 7,000 บาท นำไปจ่ายให้สถาบันการเงิน ก. จนหมด ซึ่งช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยจ่ายไปได้หลายพันบาท

อีกทางเลือกคือ ปลดหนี้ที่มีมูลหนี้น้อยที่สุดก่อน ก็จะผ่อนให้สถาบันการเงิน ก. และ ข. ตามยอดขั้นต่ำ คือ 4,000 + 2,000 = 6,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 4,000 บาท นำไปจ่ายให้สถาบันการเงิน ค. และเมื่อหมดภาระหนี้ของสถาบันการเงิน ค. จึงเพิ่มจำนวนเงินผ่อน สถาบันการเงิน ข. เป็นเดือนละ 6,000 บาท

นอกจากนี้ อาจจะไปทำเรื่องรีไฟแนนซ์ โดยรวมหนี้จากหลาย ๆ ที่ให้มาเป็นก้อนเดียว เพื่อลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนต่อเดือนให้อยู่ในภาระที่พอรับได้ หรือ เพื่อลดอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ต้องศึกษาเงื่อนไขต่าง ๆ และคำนวณดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมก่อนว่า คุ้มหรือไม่ เพราะระยะเวลาการผ่อนชำระอาจจะนานขึ้น ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดก็อาจจะมากขึ้นด้วย

ไม่ใช่แค่ภาระหนี้เท่านั้นที่ต้องปลดให้หมดก่อนวัยเกษียณ แต่ยังรวมถึงภาระค้ำประกันต่าง ๆ ทั้งการค้ำประกันเงินกู้ และการค้ำประกันคนเข้าทำงาน ต้องไปปลดภาระออกให้หมด เพราะมันอาจจะทำให้เรากลายเป็นหนี้ในวัยเกษียณแบบไม่รู้ตัว

สำหรับใครที่สนใจอยากรู้เทคนิคและวิธีการบริหารจัดการเงินหลังเกษียณ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนการเงินหลังเกษียณ สไตล์วัยเก๋า” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่



บทความที่เกี่ยวข้อง