ก่อนซื้อรถต้องรู้อะไรบ้าง

โดย SET
31-what-to-know-before-buying-a-car
Highlight
  • ก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ ควรรู้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะตามมา เพื่อเตรียมวางแผนการเงินได้อย่างถูกต้อง

  • ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อดอกเบี้ยที่ต้องชำระ คือ “อัตราดอกเบี้ย” หากอัตราดอกเบี้ยสูง จำนวนดอกเบี้ยที่ต้องชำระก็สูง รวมทั้ง “ระยะเวลาในการผ่อนชำระ” หากเลือกการผ่อนระยะที่ยาวนาน จำนวนดอกเบี้ยที่ต้องชำระก็จะเพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วย

แม้ทุกวันนี้การเดินทางไปไหนมาไหนจะสะดวกขึ้น เพราะมีทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่รถยนต์ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคนปัจจุบัน แต่ก่อนที่จะซื้อรถยนต์สักคัน นอกจากยี่ห้อรถและราคาที่ถูกใจแล้ว เราควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะตามมา เพื่อเตรียมวางแผนการเงินได้อย่างถูกต้อง 

  • ค่าผ่อนชำระและดอกเบี้ย การซื้อรถยนต์แบบผ่อนชำระมีการคำนวณดอกเบี้ยแบบคงที่ (Flat Rate) ซึ่งการที่เงินต้นลด ไม่ได้ทำให้ดอกเบี้ยลดลงไปเหมือนกับการผ่อนชำระบ้าน
  • ค่าใช้จ่ายประกันภัยภาคบังคับ รถยนต์ทุกชนิดต้องทำประกันภัยภาคบังคับ หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ. บุคคลที่ 3 เพื่อคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่เป็นบุคคลอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่เจ้าของรถ) ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตามปกติค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะค่อย ๆ ลดลงตามอายุของรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น
  • ค่าใช้จ่ายในการต่อทะเบียน เรามีหน้าที่จะต้องเสียภาษีรถยนต์เป็นประจำทุกปี เพื่อต่ออายุป้ายทะเบียนรถ โดยอัตราภาษีจะแตกต่างกันไปตามประเภทรถยนต์ ขนาดเครื่องยนต์ อายุของรถยนต์ ฯลฯ
  • ค่าประกันภัย เพราะเราต้องเผชิญกับความเสี่ยงทุกครั้งที่ขับรถ การทำประกันจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุได้ ซึ่งจำนวนเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับประเภทของกรมธรรม์ ประเภทและอายุของรถยนต์ ฯลฯ
  • ค่าซ่อมบำรุงตามระยะทาง ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นตามอายุการใช้งาน ทั้งยังแตกต่างกันไปตามขนาดและประเภทรถ จึงต้องวางแผนค่าใช้จ่ายให้เพียงพอ โดยอาจจะกันค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้เป็นรายเดือนเพื่อสำรองไว้
  • ค่าใช้จ่ายในการตกแต่ง หลายคนชอบตกแต่งรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นเปลี่ยนเบาะหนัง เครื่องเสียง ล้อ ยาง หรืออุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆ ซึ่งอาจต้องใช้เงินค่อนข้างมาก จึงควรจัดเตรียมเงินส่วนนี้ไว้

หลังจากที่ทราบถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เมื่อเป็นเจ้าของรถยนต์สักคันแล้ว คราวนี้ก็คงถึงเวลาที่จะตัดสินใจเลือกซื้อ และดูว่าตนเองมีความสามารถในการผ่อนชำระแค่ไหนแล้วนะ


ดอกเบี้ยผ่อนรถยนต์คิดกันอย่างไร
?

 สำหรับคนที่มีเงินสดไม่เพียงพอ ลองทำความเข้าใจวิธีคำนวณดอกเบี้ยผ่อนชำระในการซื้อรถที่เรียกกันว่า “การเช่าซื้อ” เพื่อจะได้เตรียมเงินดาวน์และดูความสามารถในการผ่อนชำระของตัวเอง ซึ่งสูตรที่ใช้คิดจำนวนเงินผ่อนรถต่อเดือนเป็นดังนี้

31-what-to-know-before-buying-a-car_1

ตัวอย่าง หากซื้อรถยนต์ใหม่ขนาด 1,600 ซีซี ราคา 700,000 บาท โดยมีเงินดาวน์ 200,000 บาท และขอกู้เงินเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ 500,000 บาท ผ่อนชำระเป็นเวลา 5 ปี เสียดอกเบี้ย 5% ต่อปี (ปีละ 12 งวด รวมเป็น 60 งวด)

31-what-to-know-before-buying-a-car_2

ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อดอกเบี้ยที่ต้องชำระ คือ “อัตราดอกเบี้ย” หากอัตราดอกเบี้ยสูง จำนวนดอกเบี้ยที่ต้องชำระก็สูง รวมทั้ง “ระยะเวลาในการผ่อนชำระ” หากเราเลือกการผ่อนระยะที่ยาวนาน จำนวนดอกเบี้ยที่ต้องชำระก็จะเพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วย อีกทั้งยังไม่ได้คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกเหมือนการผ่อนบ้าน

 

ทางเลือกที่ดีที่สุดในการซื้อรถยนต์ คือ “ซื้อด้วยเงินสด” แต่เนื่องจากราคารถยนต์ในปัจจุบันค่อนข้างสูง หากจำเป็นต้องผ่อนชำระ ก็ควรจ่ายเงินดาวน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือกู้ให้น้อยที่สุด เพราะยิ่งดาวน์มาก ดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายก็ลดลง รวมทั้งควรเลือกระยะเวลาการผ่อนชำระที่สั้นที่สุด เพราะจะช่วยประหยัดเงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยได้

 

รถยนต์... ยิ่งใช้ยิ่งลด

ดังที่กล่าวไปแล้ว... ว่าการมีรถสักคันจะมีค่าใช้จ่ายตามมาอีกไม่น้อยเลยทีเดียว หลายคนคงยังไม่เคยคำนวณออกมาอย่างจริงจัง เลยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้รถเท่าไหร่

 

ตัวอย่าง หากซื้อรถยนต์ใหม่ขนาด 1,600 ซีซี ราคา 700,000 บาท และขอกู้เงินเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ 500,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี โดยขับรถเฉลี่ยวันละประมาณ 50 กิโลเมตร และเสียค่าที่จอดรถอีกเดือนละ 1,000 บาท เราจะมีค่าใช้จ่ายต่อปีคร่าว ๆ (ไม่รวมค่าตกแต่งรถเพิ่มเติม) ดังนี้

31-what-to-know-before-buying-a-car_3

หรือ เท่ากับค่าใช้จ่ายประมาณ 17,583 บาทต่อเดือน หรือ 578 บาทต่อวัน นี่ยังไม่รวมค่าเสื่อมราคา ค่าทางด่วน หรือค่าน้ำมันที่อาจจะปรับเพิ่มขึ้นได้ เราก็ควรศึกษาวิธีการใช้รถยนต์ที่สามารถช่วยประหยัดน้ำมันได้ เช่น การวางแผนการเดินทางตามสภาพการจราจร การใช้ความเร็ว การเช็คแรงดันลมยาง การตั้งอุณหภูมิแอร์ การบรรทุกสิ่งของในรถ เป็นต้น

เป็นเจ้าของรถสักคัน ต้องทำประกันอะไรบ้าง?

เพราะอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่คาดฝัน และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาขณะที่ขับรถ ดังนั้น การทำประกันจึงสำคัญมาก เพราะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องชดใช้ให้คู่กรณี รวมทั้งลดความเสียหายอื่น ๆ โดยผ่อนหนักเป็นเบา และช่วยให้อุ่นใจว่า ตัวเรา ผู้โดยสาร และทรัพย์สิน จะได้รับความคุ้มครองจากการทำประกันรถยนต์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

 

  • การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือ “ประกันภัย พ.ร.บ.” เป็นประกันที่กฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำ ใครไม่ทำจะมีความผิดและต้องถูกปรับเป็นเงินไม่เกิน 10,000 บาท โดยจะให้ความคุ้มครองความรับผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือคนเดินเท้า โดยจะคุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บและเป็นค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต และค่าสินไหมทดแทน (ส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น) กรณีพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิด
    (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คปภ. https://www.oic.or.th/th/consumer/สาระสำคัญการประกันภัยรถภาคบังคับ)

 

  • การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อ (ผู้เอาประกัน) และผู้ขาย (บริษัทประกันภัย) ซึ่งเลือกซื้อได้ตามความต้องการวงเงินความคุ้มครอง กำลังเงินที่มีอยู่ และการให้บริการของแต่ละบริษัท โดยความคุ้มครองหลักจะครอบคลุมความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ความเสียหายของตัวรถยนต์ ความสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์
    (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คปภ. https://www.oic.or.th/th/education/insurance/vehicle/voluntary)

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการขับรถคือ ต้องไม่ประมาท ขับรถตามกฎจราจร มีน้ำใจ และไม่ขับรถหากสภาพร่างกายไม่พร้อม เช่น มึนเมา จะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและความเสียหายต่าง ๆ ได้

สำหรับใครที่สนใจเรียนรู้เทคนิคบริหารจัดการหนี้ ให้มีเงินเหลือใช้ และสามารถเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตได้

สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “WMD1101 : หมดหนี้มีออม” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่



บทความที่เกี่ยวข้อง