รู้ คิด แต่ไม่ทำ เหตุผลที่มนุษย์เงินเดือนยังติดกับดักหนี้

โดย พรพิมล ปฐมศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญการบริหารหนี้
TSI-Article-FL-125-know-think-dont-do-salaryman-debt-trap-Thumbnail
Highlight
  • ผลสำรวจ “สำรวจความคิด มนุษย์เงินเดือนที่มีหนี้” พบว่ามนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ แม้จะมีความรู้และทัศนคติทางการเงินที่ดี แต่กลับไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นการลงมือทำจริงในชีวิตประจำวันได้

  • ช่องว่างระหว่าง “รู้” กับ “ทำ” กลายเป็นกับดักที่ทำให้หลายคนติดอยู่กับปัญหาหนี้โดยไม่รู้ตัว ขณะเดียวกันยังมีความเชื่อผิด ๆ ที่ฉุดรั้งการจัดการหนี้ เช่น การมองว่าเงินไม่สำคัญ หรือคิดว่าหนี้เป็นเรื่องของโชคชะตา ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการสร้างอนาคตทางการเงินที่มั่นคง

  • หากต้องการปลดหนี้ ควร “ลงมือทำ” ตั้งแต่วันนี้ เริ่มจากการปฏิบัติง่าย ๆ เพื่อเปลี่ยนความรู้ให้กลายเป็นพฤติกรรมทางการเงินที่ยั่งยืน เพราะไม่ว่าจะมีรายได้น้อยหรือมาก ก็สามารถเริ่มต้นสร้างวินัยทางการเงินและก้าวสู่ชีวิตที่ไร้หนี้ได้ตั้งแต่วันนี้

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมคนทำงานประจำที่มีรายได้แน่นอน หลายคนถึงยังวนเวียนอยู่กับปัญหาหนี้สิน ทั้งที่รู้วิธีจัดการเงินดี รู้ว่าควรออมเงิน รู้ว่าควรบันทึกรายรับรายจ่าย รู้ว่าหนี้เสียอันตรายแค่ไหน แต่สุดท้ายกลับพบว่าตัวเองยังติดอยู่ในวังวนเดิม ๆ

 

ในยุคที่ข้อมูลความรู้ทางการเงินหาได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส มนุษย์เงินเดือนจำนวนมากกลับยังไม่สามารถเปลี่ยนความรู้ ให้กลายเป็นการลงมือทำได้จริง โดยผลสำรวจล่าสุด “สำรวจความคิด มนุษย์เงินเดือนที่มีหนี้” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จับตาอนาคตประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างแรงงานในระบบที่มีหนี้และมีรายได้สม่ำเสมอจำนวน 307 คน ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 - มกราคม 2568 สรุป พบว่า

  • มีความรู้ทางการเงินเฉลี่ย 70%
  • ทัศนคติทางการเงินเฉลี่ย 85%
  • แต่มีอัตราการเงินเฉลี่ยที่ทำจริงเพียง 65%

 

สะท้อนภาพชัดเจนว่า แม้คนส่วนใหญ่จะมีความรู้และทัศนคติทางการเงินที่ดี แต่กลับมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่นำสิ่งเหล่านั้นไปใช้จริงในชีวิตประจำวัน คำถาม คือ กับดักที่ซ่อนอยู่ในใจมนุษย์เงินเดือนไทยคืออะไร ทำไมจึงยังติดอยู่กับหนี้ แม้จะรู้ทางออกดีอยู่แล้ว และคำถามตามมา คือ มีวิธีเปลี่ยนความรู้ให้ลงมือทำเพื่อจัดการหนี้หรือไม่

รู้แต่ไม่ทำ

ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 307 คน ซึ่งล้วนมีรายได้ประจำและมีภาระหนี้สิน สะท้อนภาพที่น่าตกใจและชวนให้ขบคิด แม้กลุ่มตัวอย่างจะมีความรู้ทางการเงินอยู่ในระดับดีมาก (69.56%) และมีทัศนคติทางการเงินที่ยอดเยี่ยม (84.89%) แต่เมื่อพิจารณาถึงการลงมือปฏิบัติจริง กลับพบว่าคะแนนเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 65% เท่านั้น

รู้เยอะแต่ไม่ลงมือทำ

ผลสำรวจ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม “รู้” ว่าการออมเงินสำคัญ และเข้าใจหลักการวางแผนทางการเงินอย่างถูกต้อง และเกือบทั้งหมด “เชื่อ” ว่าควรมีเงินสำรองฉุกเฉินและตั้งเป้าหมายทางการเงิน แต่มีเพียง 37.73% เท่านั้นที่ “บันทึกรายรับ-รายจ่าย”  และมีเพียง 60.10% ที่วางแผนค่าใช้จ่าย ส่วน 71.25% “ควบคุมการใช้เงิน” อย่างจริงจัง

 

สิ่งที่น่าสนใจ คือ แม้ทัศนคติทางการเงินของกลุ่มตัวอย่างจะดีมาก เช่น  93.09% เห็นความสำคัญของการมีเป้าหมายปลดหนี้ หรือ 91.06 กล้าเผชิญหน้ากับหนี้ที่ตัวเองก่อ แต่เมื่อถึงเวลาต้อง “ลงมือจัดการการเงิน” กลับมีเพียง 65% เท่านั้น สะท้อนถึงการไม่สามารถรักษาวินัยทางการเงินได้อย่างต่อเนื่อง พูดง่าย ๆ ทัศนคติดี แต่พฤติกรรมยังไม่เปลี่ยน

กับดักทางพฤติกรรม

ช่องว่างระหว่าง “รู้” กับ “ทำ” เป็นกับดักที่มนุษย์เงินเดือนจำนวนมากกำลังเผชิญอยู่โดยไม่รู้ตัว หลายคนอาจคิดว่าแค่มีความรู้การวางแผนการเงินก็เพียงพอแล้ว แต่ความจริง คือ ความรู้จะไม่มีความหมาย หากไม่ถูกนำไปใช้จริงในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ผลสำรวจนี้จึงเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาหนี้สินของมนุษย์เงินเดือนจำนวนมาก ไม่ได้เกิดจากการขาดความรู้หรือทัศนคติที่ดี แต่เกิดจากการขาดแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนความรู้ให้ลงมือทำเพื่ออนาคตทางการเงินที่ดีกว่า

วิเคราะห์ช่องว่าง : ปัญหารู้ คิด แต่ไม่ทำ

หลายคนที่ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเริ่มบันทึกรายรับ-รายจ่ายตั้งแต่ต้นเดือน แต่ผ่านไปไม่กี่วันก็ลืม หรือเคยวางแผนจะออมเงินทุกเดือน แต่สุดท้ายก็มีเหตุให้ต้องหยิบเงินออมมาใช้ก่อนเสมอ ปรากฏการณ์นี้เป็นช่องว่างขนาดใหญ่ที่มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ติดอยู่โดยไม่รู้ตัว สำหรับสาเหตุของช่องว่างนี้มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก

• พฤติกรรมและอารมณ์

ผู้คนมักเลือกทำสิ่งที่ง่ายและสบายใจ มากกว่าสิ่งที่ถูกต้องหรือควรทำ เช่น การบันทึกรายรับ-รายจ่ายอาจดูน่าเบื่อและยุ่งยาก การควบคุมการใช้เงินอาจทำให้รู้สึกอึดอัด และเมื่ออารมณ์เหนื่อยล้าจากการทำงาน หลายคนจึงเลือกช้อปปิ้งปลอบใจหรือกินหรูสักมื้อ แทนที่จะเก็บเงิน

• ขาดแรงกระตุ้นและเป้าหมายที่ชัดเจน

แม้จะรู้ว่าควรออมเงิน แต่ถ้าไม่มีเป้าหมายที่จับต้องได้ เช่น จะออมเพื่อซื้อบ้านใน 5 ปี หรือจะปลดหนี้ให้หมดใน 2 ปี แรงจูงใจในการลงมือทำก็จะอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ ซึ่งมนุษย์เงินเดือนจำนวนมากจึงติดอยู่ในวังวน “เริ่มต้นดี แต่จบไม่สวย” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

• ผลกระทบจากสังคมและสิ่งแวดล้อม

สังคมยุคใหม่เต็มไปด้วยสิ่งเร้าและแรงกดดันให้ใช้จ่าย โฆษณาออนไลน์ โปรโมชั่นลดราคา ไลฟ์สไตล์ของเพื่อน สิ่งเหล่านี้ล้วนกระตุ้นให้ “ใช้ก่อน คิดทีหลัง”  แม้จะรู้ว่าควรประหยัด แต่ก็ยากจะต้านทานกระแสเหล่านั้น

• ความคิดแบบ “เดี๋ยวค่อยทำ”

มนุษย์เงินเดือนหลายคนมีความคิดว่า “ไว้ค่อยเริ่มต้นเดือนหน้า” หรือ “ตอนนี้ยังไม่พร้อม” แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ยังไม่ได้เริ่มต้นเสียที สุดท้ายความตั้งใจดี ๆ ก็กลายเป็นเพียงแค่ความคิด

การเข้าใจว่าช่องว่างระหว่าง “รู้” กับ “ทำ” ไม่ใช่เรื่องของความขี้เกียจหรือไร้ความรับผิดชอบ แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรมที่ต้องการแรงกระตุ้น วิธีการ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เมื่อตระหนักถึงกับดักเหล่านี้และหาวิธีรับมือได้ จะทำให้สามารถเปลี่ยน “ความรู้” ให้กลายเป็น “การลงมือทำ” ก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ความเชื่อผิด ๆ ที่ฉุดรั้งการจัดการหนี้

ในโลกของการเงินส่วนบุคคล ความรู้และทัศนคติที่ดีอาจยังไม่เพียงพอ หากยังมี “ความเชื่อผิด ๆ” เพราะความเชื่อเหล่านี้เปรียบเสมือนกำแพงที่ขวางกั้นไม่ให้ก้าวข้ามปัญหาหนี้สินได้อย่างแท้จริง

• เงินไม่สำคัญเท่าความสุข

หลายคนปลอบใจตัวเองว่า “ขอแค่มีความสุขก็พอ เรื่องเงินเอาไว้ทีหลัง” แต่ในความเป็นจริง ความมั่นคงทางการเงิน คือ รากฐานสำคัญของความสุขระยะยาว การละเลยการจัดการหนี้เพราะคิดว่าเงินไม่สำคัญ สุดท้ายอาจนำไปสู่ความเครียดและความกังวลที่กัดกินความสุขในชีวิตประจำวัน

• หนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เดี๋ยวก็หาเงินมาใช้คืนได้

บางคนมองว่าการเป็นหนี้เป็นเรื่องปกติในชีวิต “เป็นหนี้บัตรเครดิตก็แค่จ่ายขั้นต่ำ เดี๋ยวก็หมด” แต่ความคิดนี้ทำให้มองข้ามอันตรายของดอกเบี้ยทบต้นและภาระหนี้ที่พอกพูน จนบางครั้งกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจะแก้ไขในอนาคต

• ไม่มีเงินเหลือเก็บ ก็ไม่ต้องวางแผน

หลายคนคิดว่าต้องมีเงินเหลือก่อนถึงจะเริ่มวางแผนการเงิน แต่ความจริงแล้ว การวางแผนและจัดการหนี้ ควรเริ่มตั้งแต่มีรายได้ แม้จะมีเงินเหลือเพียงเล็กน้อย การเริ่มต้นเล็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอ จะสร้างวินัยและผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ในระยะยาว

• คนรอบตัวก็เป็นหนี้เหมือนกัน

เมื่อเห็นว่าคนรอบข้างล้วนมีหนี้สิน บางคนจึงรู้สึกว่าการเป็นหนี้เป็นเรื่องปกติ ไม่จำเป็นต้องรีบแก้ไข แต่ความจริงแล้ว หนี้ที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องจะกลายเป็นภาระที่ฉุดรั้งโอกาสและความก้าวหน้าในชีวิต

ความเชื่อผิด ๆ เหล่านี้อาจดูเหมือนไม่มีพิษภัย แต่หากปล่อยให้ฝังรากลึกในความคิดอาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการจัดการหนี้และการสร้างอนาคตทางการเงินที่มั่นคง ดังนั้น หากต้องการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงชีวิตทางการเงินของตัวเองอย่างจริงจังควรทลายกำแพงความเชื่อผิด ๆ เหล่านี้


เนื้อหานี้มีประโยชน์กับคุณแค่ไหน?


เปลี่ยนความรู้เป็นการลงมือทำ

เมื่อรู้แล้วว่าช่องว่างระหว่าง “ความรู้” กับ “การลงมือทำ” เป็นอุปสรรคสำคัญในการจัดการหนี้ ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนความรู้ที่มีให้กลายเป็นพฤติกรรมจริงในชีวิตประจำวัน เพราะการลงมือทำอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น ที่จะเปลี่ยนอนาคตทางการเงินของตัวเองได้จริง

• เริ่มจากเป้าหมายเล็ก ๆ ที่จับต้องได้

อย่าตั้งเป้าหมายใหญ่จนเกินไปในครั้งแรก เช่น จะปลดหนี้ทั้งหมดในปีเดียว เพราะอาจทำให้รู้สึกท้อแท้ แต่ให้เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ที่ทำได้จริง เช่น บันทึกรายรับ-รายจ่ายทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน  ออมเงินวันละ 20 บาท ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสัปดาห์ละ 1 รายการ เมื่อทำได้สำเร็จจะเกิดความภูมิใจและสร้างแรงผลักดันให้ก้าวต่อไป

• สร้างระบบอัตโนมัติช่วยควบคุมวินัย

ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เช่น ตั้งระบบโอนเงินอัตโนมัติไปบัญชีออมเงินหรือบัญชีชำระหนี้ทุกเดือน ใช้แอปพลิเคชันบันทึกรายรับ-รายจ่ายที่ใช้งานง่าย ตั้งเตือนชำระหนี้ล่วงหน้า เพื่อช่วยลดโอกาสลืมหรือผัดวันประกันพรุ่ง

• สร้างแรงจูงใจและรางวัลให้ตัวเอง

เมื่อทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ อย่าลืมให้รางวัลตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น  ไปทานอาหารที่ชอบ ซื้อของขวัญชิ้นเล็ก ๆ เพราะการให้รางวัลจะช่วยให้รู้สึกสนุกและอยากทำต่อเนื่อง

• ทบทวนและปรับปรุงแผนอย่างสม่ำเสมอ

กำหนดเวลาทบทวนแผนการเงินทุกเดือน ตรวจสอบว่าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ หากยังไม่สำเร็จให้หาสาเหตุและปรับแผนให้เหมาะสม ซึ่งการทบทวนจะช่วยให้ไม่หลุดเป้าหมายและปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ปัญหาหนี้ของมนุษย์เงินเดือนจำนวนมาก ไม่ได้เกิดจากการขาดความรู้หรือทัศนคติที่ดี แต่เกิดจากการหยุดแค่มี “ความรู้” โดยไม่เปลี่ยนเป็น “การลงมือทำ” ในชีวิตจริง เพราะการจัดการหนี้และสร้างอนาคตทางการเงินที่มั่นคง ไม่ใช่เรื่องของโชคชะตาหรือพรสวรรค์ แต่เป็นเรื่องของ “การลงมือทำ” อย่างสม่ำเสมอ

 

เริ่มต้นจากก้าวเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกรายรับ-รายจ่าย การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน หรือการสร้างวินัยทางการเงิน จงเปลี่ยนความตั้งใจให้กลายเป็นพฤติกรรม แล้วจะค้นพบว่าอิสรภาพทางการเงินอยู่ใกล้กว่าที่คิด เพียงแค่ “ลงมือทำ” ตั้งแต่วันนี้


เรียนรู้เทคนิคบริหารจัดการหนี้ ให้มีเงินเหลือใช้ และสามารถเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “หมดหนี้มีออม” ได้ฟรี!


บทความที่เกี่ยวข้อง