ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อยอดสร้างครูกระบวนกร ส่งต่อความรู้การลงทุนสู่ระบบการศึกษา

โดย SET
INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp
Highlight

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มุ่งมั่นส่งเสริม financial literacy เยาวชนไทย จัดโครงการ “INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สนับสนุนให้ครูระดับมัธยมศึกษาออกแบบโมเดลการเรียนรู้การเงินการลงทุน เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนในรูปแบบ active learning หวังต่อยอดเป็นหลักสูตรการลงทุนสำหรับนักเรียนมัธยมให้แก่ระบบการศึกษาของประเทศ โดยที่ผ่านมาสร้างครูกระบวนกรแล้วใน 66 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมความรู้ด้านการเงินและการลงทุน หรือ financial literacy ให้แก่คนไทยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน เพราะตระหนักดีว่าองค์ความรู้ที่ถูกต้องจะช่วยสร้างทักษะในการบริหารจัดการเงินซึ่งเยาวชนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ พร้อมเล็งเห็นว่าผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังและถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวก็คือครูผู้สอน เนื่องจากมีความใกล้ชิด รู้จักและเข้าใจนักเรียนของตนเป็นอย่างดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงให้พื้นที่เรียนรู้แก่ครูในการนำองค์ความรู้จากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปออกแบบการเรียนการสอนด้านการลงทุนให้เหมาะสมสำหรับนักเรียนในแต่ละโรงเรียนต่อไป

“โครงการ INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp เน้นการสนับสนุนและเตรียมความพร้อมแก่ครูระดับมัธยม เนื่องจากพบว่านักเรียนมัธยมเริ่มมีความสนใจใฝ่รู้เรื่องการลงทุน การปูพื้นฐานตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มจึงเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำหน้าที่เป็นโค้ชของครู ให้องค์ความรู้ เครื่องมือ และสื่อความรู้ เพื่อให้ครูทำหน้าที่เป็นครูกระบวนกร สร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้แบบ active learning และพัฒนาสื่อการสอนที่ตรงกับความต้องการของนักเรียนและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละห้องเรียน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการนี้ได้สร้างครูกระบวนกรสอนการลงทุนแล้วใน 66 สถาบันการศึกษา จาก 24 จังหวัดทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ขยายผลสู่นักเรียนรวม 11,422 คน ปัจจุบันมีห้องเรียนลงทุนตัวอย่างแล้ว 19 ห้องเรียน พร้อมกันนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพัฒนาชุดความรู้การลงทุนสำหรับนักเรียนมัธยมที่ครูสามารถนำไปใช้ต่อได้โดยสะดวก คาดหวังว่าความรู้การลงทุนจะเข้าสู่ระบบการศึกษาได้กว้างขวางยิ่งขึ้น” นายภากรกล่าว

กิจกรรม “Show & Share” ในโครงการ INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp ปีนี้ เปิดเวทีให้ครูนำกิจกรรมและกระบวนการสอนที่ได้พัฒนาขึ้นและได้ทดลองสอนในห้องเรียนจริงแล้ว มาเผยแพร่เป็นโมเดลการเรียนรู้และแบ่งปันให้แก่ครูท่านอื่น ๆ รวมถึงสาธารณชน และยังมีครูกระบวนกรสอนการลงทุน 3 คน จาก 2 โรงเรียนได้นำประสบการณ์มาแบ่งปันด้วย

กมลชนก สกนธวัฒน์

นางสาวกมลชนก สกนธวัฒน์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เจ้าของผลงาน “ห้องเรียนพารวย” กล่าวว่า การได้เข้าร่วมโครงการในรุ่น 1 ทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นในประเด็นการลงทุนที่เคยเข้าใจผิด มีความมั่นใจมากขึ้นที่จะสอนการลงทุนในห้องเรียน รวมทั้งได้รู้จักพี่ ๆ เพื่อน ๆ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทีมงานของ BlackBox และเพื่อนครูต่างโรงเรียน ทำให้มีเครือข่ายที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไอเดียการสอน ทีมงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัท BlackBox คอยให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการสอนเรื่องการลงทุน แม้ว่าจะจบการอบรมในรุ่นที่ 1 ไปแล้ว ก็ยังสามารถมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับรุ่นอื่น ๆ ได้เสมอ เรียกได้ว่าอบรมจบแต่ความเป็นกลุ่ม Bootcamp ไม่มีวันจบ

รัตนชาติ สาระโป และเฉลิมขวัญ วงศ์พานิช

นายรัตนชาติ สาระโป โรงเรียนบ้านแม่งอนขี้เหล็ก อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของผลงาน “แสงไฟในดงดอย” กล่าวว่า เรื่องการเงินการลงทุนเป็นสิ่งท้าทายไม่ใช่แค่กับนักเรียน แม้แต่ครูเองก็ยังต้องลองผิดลองถูกและยังไม่สามารถจัดการให้ดีได้ มันจะดีกว่าไหมถ้าเราได้ลองผิดพลาด ลองเรียนรู้ร่วมกันในห้องเรียน เพื่อปรับเปลี่ยนชีวิตและอนาคตของเราและนักเรียน ด้วยความรู้ด้านการเงินและการลงทุน ด้าน นางสาวเฉลิมขวัญ วงศ์พานิช โรงเรียนบ้านแม่งอนขี้เหล็ก เจ้าของผลงาน “แสงไฟในดงดอย” เช่นกัน กล่าวเสริมว่า โครงการนี้เป็นเพื่อนที่จริงใจกับครูในการออกแบบห้องเรียนการเงินการลงทุนให้แก่เด็ก ๆ ที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ไอเดียการสอน และการเสริมแรงกายแรงใจทุก ๆ อย่าง โครงการนี้ช่วยให้เรื่องการเงินและการลงทุนเข้าใกล้เด็ก ๆ ของเรามากขึ้น รวมทั้งยังช่วยเปลี่ยนทัศนคติการใช้เงินของตัวครูเองด้วย

ครูอาจารย์ที่สนใจสามารถติดตามโครงการ INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp ได้ที่เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน INVESTORY https://investory.setgroup.or.th

อ่านข่าวฉบับเต็ม >> คลิกที่นี่

“SET…Make it Work for Everyone”



บทความที่เกี่ยวข้อง