ของขวัญที่ควรให้พ่อแม่

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
Health Insurance banner
Highlight
  • การซื้อประกันสุขภาพให้พ่อแม่ นอกจากได้สร้างสวัสดิการรักษาพยาบาลให้พ่อแม่ เจ็บป่วยจะได้หาหมอไม่ต้องเสียดายเงิน ยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย

  • แต่ลำพังประกันสุขภาพอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ เพราะอัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลสูงถึงประมาณ 9%/ปี หรือ พูดง่ายๆ ก็คือ ค่ารักษาพยาบาลจะแพงขึ้น 2 เท่าทุก 8 ปี แต่ความคุ้มครองของประกันสุขภาพจะคงที่ตามทุนประกันที่เราซื้อ ดังนั้น เราจึงควรมีการลงทุนเพื่อสร้างเงินทุนสำรองสำหรับค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินกว่าความคุ้มครองของประกัน มีการลงทุนหลายๆ ทางเลือก อย่างเช่น กองทุนรวม หุ้น หุ้นกู้ สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ ที่เราสามารถเลือกให้ตอบโจทย์ชีวิตเราได้

ถึงเดือนเมษายนทีไร หลายคนนั่งนับวันรอที่จะได้ไปเที่ยวในเทศกาลสงกรานต์ หลายคนรอวันที่จะกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ ดีใจที่ประเทศไทยกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ร่วมแสดงความกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่ เพราะผู้สูงอายุเปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นที่พักใจ และกำหนดให้วันที่ 14 เมษายนเป็นวันครอบครัว ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจที่คนไทยส่วนใหญ่ยังรักและระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่กันอยู่ อยากตอบแทนดูแลพ่อแม่ด้วยความรัก ไม่ได้มีความคิดว่าการดูแลพ่อแม่เป็นห่วงโซ่กตัญญูที่สร้างภาระให้กับลูกต้องมาดูแลพ่อแม่เหมือนอย่างกระแสสังคมบางส่วนที่พบเห็นตามสื่อโซเชียลในช่วงที่ผ่านมา

การกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ แน่นอนนะ พ่อแม่ก็เฝ้ารอลูก ลูกก็เฝ้าที่จะเจอพ่อแม่ หลายคนเตรียมของขวัญต่างๆ มากมายให้พ่อแม่ แต่มีหลายกรณีที่พบก็คือ ไปพบว่าคุณพ่อคุณแม่ท่านเจ็บป่วยหนักมาก แต่ไม่ยอมหาหมอ ไม่ยอมบอกลูก จะว่าไม่มีเงินบางกรณีก็ใช่ แต่หลายกรณีพ่อแม่มีเงิน แล้วทำไมไม่หาหมอ

เรื่องนี้น่าจะหาคำตอบได้จากรายงานวิจัยหนึ่งได้กล่าวถึงความกังวลของคนสูงวัย ดังนี้

พ่อแม่ส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัย มักจะมีรายได้น้อย ไม่ว่าจากการเกษียณอายุ หรือปัญหาสุขภาพ ทำให้มีความกังวลด้านการเงินอยู่ในใจ จะใช้เงินในสิ่งที่จำเป็น แต่สิ่งที่รักมากที่สุด คือ ลูก พวกเราคงเคยมีประสบการณ์กับตัวเองนะ พ่อแม่เจ็บป่วย ถ้าไม่หนักหนาสาหัสจริงๆ จะไม่ยอมหาหมอ เสียดายเงิน แต่ถ้าลูกไอแค๊กๆ 2 ที แทบจะอุ้มไปหาหมอทันทีกลัวว่าลูกจะเป็นอะไร ไม่คิดเสียดายเงินเลย

พฤติกรรมนี้ทำให้หลายครั้งกว่าพ่อแม่จะยอมหาหมอ ก็ป่วยเกินเยียวยา เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร ลูกเองก็เสียใจที่เสียร่มโพธิ์ร่มไทรไป

ในฐานะลูก เราจะทำอย่างไรให้พ่อแม่ท่านเวลาเจ็บป่วย ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินไปหาหมอดีล่ะ

วิธีแรกเลย ก็คือ ลูกควรทำให้พ่อแม่สบายใจว่ามีฐานะการเงินที่ดี พ่อแม่ไม่ต้องเป็นห่วง แต่ก็ช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะความเป็นพ่อเป็นแม่ยังไงก็ห่วงลูกอยู่ดี

อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเราเรื่องค่ารักษาพยาบาลสำหรับคุณพ่อคุณแม่ได้ ก็คือ การซื้อประกันสุขภาพให้คุณพ่อคุณแม่ท่านเลย ซึ่งนอกจากได้สร้างสวัสดิการรักษาพยาบาลให้พ่อแม่ เจ็บป่วยจะได้หาหมอไม่ต้องเสียดายเงิน ยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อประกันสุขภาพให้คุณพ่อคุณแม่อีก

Health Insurance_attachment1

ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 162) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ  เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพพ่อแม่ของผู้มีเงินได้ รวมทั้งพ่อแม่ของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้  ได้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพ ให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร เพื่อเอาประกันภัยสำหรับพ่อแม่ของผู้มีเงินได้ รวมทั้งพ่อแม่ของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ในปีภาษีนั้น โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้ 

  • พ่อหรือแม่แต่ละคนมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกินสามหมื่นบาท ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาท พ่อหรือแม่คนไหนมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีไหน ลูกในฐานะผู้มีเงินได้ก็สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพที่ซื้อให้ไปยกเว้นภาษีได้ อ้อ มีหลายคนเข้าใจผิดว่าพ่อ แม่ ต้องอายุเกิน 60 ปี จริงๆ พ่อแม่จะอายุเท่าไหร่ก็ได้นะ ขอแค่เงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้นก็พอ
  • ผู้มีเงินได้หรือสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้จะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย (ลูกบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อน)
  • การจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ลูกสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายให้ทั้งพ่อและแม่รวมทุกคนไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง ปีละไม่เกิน 15,000 บาท
  • ถ้าคู่สมรสไม่มีเงินได้ เบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายให้พ่อแม่คู่สมรสก็สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดไม่เกินปีละ 15,000 บาท
  • กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพสำหรับพ่อแม่ดังกล่าว ให้ผู้มีเงินได้ทุกคนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้โดยเฉลี่ยเบี้ยประกันภัยที่ผู้มีเงินได้ร่วมกันจ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ตรงนี้เป็นเรื่องที่หลายคนมักจะเข้าใจผิดกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ว่าลูกแต่ละคนสามารถยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับประกันสุขภาพที่ซื้อให้พ่อ 15,000 บาท และแม่ 15,000 บาท แต่หมายถึงลูกทุกคนรวมกันสามารถยกเว้นเงินได้สำหรับประกันสุขภาพที่ซื้อให้พ่อได้ 15000 บาท และแม่ 15,000 บาท การยกเว้นเงินได้ ก็เฉลี่ยเบี้ยประกันไปตามส่วนของผู้มีเงินได้ตามที่จ่ายไปจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท

ตัวอย่างเช่น มีพี่น้อง 3 คน ทั้ง 3 คนเฉลี่ยเงินเท่าๆกันซื้อประกันสุขภาพให้คุณพ่อหรือคุณแม่ โดยชำระเบี้ยรวมกัน 15,000 บาท ทุกคนก็จะสามารถยกเว้นเงินได้สำหรับเบี้ยประกันสุขภาพที่ซื้อให้พ่อแม่นี้เท่ากับคนละ 5,000 บาท

สำหรับรูปแบบของการประกันสุขภาพที่กรมสรรพากรให้สิทธิประโยชน์ ก็จำกัดเฉพาะ

                            (1) การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ

                           (2) การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก 

                           (3) การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)  

                           (4) การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

สำหรับหลักฐานที่จะใช้ยื่นกรมสรรพากร ก็คือใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัย โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยดังต่อไปนี้ 

                         (1) ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย (ชื่อพ่อหรือแม่)

                         (2) ชื่อ และนามสกุลของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัย (ชื่อลูกทุกคนที่ร่วมกันจ่ายเบี้ย)

                         (3) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้รับประกันภัย

                         (4) จำนวนเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพ (แยกตามชื่อลูกที่จ่ายเบี้ยเลย คนไหนจ่ายเท่าไหร่)

                         (5) จำนวนเงินที่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

เพราะฉะนั้น อย่าลืมบอกบริษัทประกันออกใบเสร็จรับเงินให้ถูกด้วยนะ ไม่งั้นจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอะไรเลย

แต่ลำพังประกันสุขภาพอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ เพราะอัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลสูงถึงประมาณ 9%/ปี หรือ พูดง่ายๆ ก็คือ ค่ารักษาพยาบาลจะแพงขึ้น 2 เท่าทุก 8 ปี แต่ความคุ้มครองของประกันสุขภาพจะคงที่ตามทุนประกันที่เราซื้อ ดังนั้น เราจึงควรมีการลงทุนเพื่อสร้างเงินทุนสำรองสำหรับค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินกว่าความคุ้มครองของประกัน มีการลงทุนหลายๆ ทางเลือก อย่างเช่น กองทุนรวม หุ้น หุ้นกู้ สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ ที่เราสามารถเลือกให้ตอบโจทย์ชีวิตเราได้



บทความที่เกี่ยวข้อง