การกำกับการซื้อขาย
ฝ่ายกำกับการซื้อขาย (Market Surveillance Department)
ฝ่ายกำกับการซื้อขาย ( Market Surveillance Department) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยมีหน้าที่หลักดังต่อไปนี้
• ติดตามภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ และตราสารอนุพันธ์ ฝ่ายกำกับการซื้อขายมีหน้าที่ดูแลและป้องกันการซื้อขายที่ผิดไปจากสภาพปกติ และ/หรือการส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะที่ไม่เหมาะสม หรือเข้าข่ายความผิดที่อาจนำไปสู่ความผิดตามเกณฑ์การซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม โดยหากพบว่าลักษณะการซื้อขายดังกล่าวเข้าข่ายการกระทำความผิด ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการตรวจสอบ และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาลงโทษทางวินัยต่อไป
ทั้งนี้ หากตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่น พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ.2546 ก็จะทำการส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อดำเนินการตรวจสอบและลงโทษต่อไป ซึ่งลักษณะความผิดดังกล่าว ได้แก่
- การใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) ซึ่งได้แก่ การที่บุคคลใดอาศัยตำแหน่งหน้าที่ หรืออยู่ในฐานะที่มีสามารถล่วงรู้ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญของบริษัท อันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ และเข้ามาทำการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อเท็จจริงดังกล่าว ก่อนที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะถูกเปิดเผยต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบบุคคลอื่นและเป็นการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรม
- การสร้างราคาหลักทรัพย์ หรือการปั่นหุ้น (Market Manipulation) ซึ่งได้แก่ การที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลมีการซื้อขายในลักษณะจงใจหรือเจตนาบิดเบือนราคาและปริมาณการซื้อขายของหลักทรัพย์ให้ผิดไปจากสภาพปกติ โดยมีเจตนาหลอกลวงให้ผู้อื่นสำคัญผิดเกี่ยวกับราคาและปริมาณการซื้อขายของหลักทรัพย์นั้นๆและหวังผลประโยชน์จากการลวงการซื้อขายนั้น เช่น
- การผลักดันราคา โดยการพยายามทำให้ราคาหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อหวังประโยชน์ที่จะขายหลักทรัพย์ได้ในราคาสูง หรือ
- การพยุงราคา เพื่อรักษาระดับราคาหุ้นไม่ให้สูงหรือต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น หรือ
- การกดราคา โดยการทำให้ราคาหลักทรัพย์ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อหวังประโยชน์จากการที่จะเข้าไปซื้อในราคาต่ำ หรือ
- การซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะจับคู่กันเอง ซึ่งในที่สุดบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการซื้อขายนั้นเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกัน ไม่มีการเปลี่ยนมือกันจริง เพื่อลวงให้บุคคลอื่นหลงผิดในราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น
- การปล่อยข่าวลือหรือกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ(Misstatement) ซึ่งได้แก่ การบอกกล่าว การแพร่ข่าว หรือข้อความอันเป็นเท็จ รวมถึงข้อความใดๆ โดยเจตนาให้ผู้อื่นสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน หรือเข้าใจว่าหลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง
นอกจากนี้ฝ่ายกำกับการซื้อขาย ยังมีหน้าที่ในการกำกับดูแลเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียน คือ
-
ติดตามการเปิดเผยสารสนเทศของบริษัทจดทะเบียน ในกรณีที่มีสารสนเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะการซื้อขายของหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ เช่น ข่าวลือเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ, การเปิดเผยตัวเลขกำไรผ่านสื่อต่างๆของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในช่วงใกล้ หรือก่อนการเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น บริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่เปิดเผยสารสนเทศดังกล่าวให้นักลงทุนรับทราบอย่างทั่วถึง แต่หากพบว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อก่อนการแจ้งอย่างเป็นทางการผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ฝ่ายกำกับการซื้อขายจะแจ้งให้บริษัทจดทะเบียนทราบ เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนชี้แจงสารสนเทศดังกล่าวว่าเป็นจริงหรือไม่ผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบข้อมูลที่เป็นทางการอย่างครบถ้วนและเท่าเทียมกันก่อนการตัดสินใจลงทุน และป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ข้อมูลภายใน ( Inside Information) ในการซื้อขายหลักทรัพย์
เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงระบบการกำกับและตรวจสอบการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถติดตามและกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ให้เป็นไปอย่างเป็นธรรม (Fair Trade) โดยระบบดังกล่าว เรียกว่าระบบ WATCHs (Warning Abnormal Trading & Catching Hostile System)
WATCHs เป็นระบบการกำกับและตรวจสอบการซื้อขายที่ช่วยให้สามารถติดตามสภาพการซื้อขายได้แบบ Real Time และยังสามารถค้นหาข้อมูลย้อนหลังในช่วงเวลาที่ต้องการได้ ด้วย Function หลักที่สำคัญที่สามารถแสดงและประมวลผล เช่น
- แสดงภาพรวมของทั้งตลาด (index) และรายหลักทรัพย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงของราคาและปริมาณการซื้อขายแบบ Real time
- แสดงการเตือน (Alert) รายหลักทรัพย์ เมื่อพบการเคลื่อนไหวของราคาและปริมาณที่ผิดปกติไปจากลักษณะการเคลื่อนไหวของหลักทรัพย์นั้น ๆ ในอดีต รวมถึงการเคลื่อนไหวที่ผิดไปจากค่าสถิติที่กำหนดไว้
- สามารถค้นหาสภาพการซื้อขายทั้งแบบ Real time และแบบย้อนหลัง (historical) ของหลักทรัพย์ที่มีสภาพผิดปกติได้ เป็นต้น
ดังนั้น ระบบ WATCHs จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถสังเกตการซื้อขายได้แบบ Real time ซึ่งจะช่วยให้มีมาตราการป้องปราม (Preventive actions) การซื้อขายที่ไม่เป็นธรรมได้อย่างทันเหตุการณ์ จึงเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับ และใช้ในการกำกับดูแลการซื้อขายในหลายประเทศทั่วโลก
กระบวนการตรวจสอบ
ฝ่ายกำกับการซื้อขาย ( Market Surveillance Department) ประกอบไปด้วย 3 ส่วนงาน ได้แก่
- ส่วนกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (Securities Surveillance) ทำหน้าที่ติดตามการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯแบบ Real time และตรวจสอบเบื้องต้น (Preliminary Investigation) เมื่อพบความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของราคา/ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยไม่มีสารสนเทศหรือปัจจัยใดที่ส่งผลกระทบต่อราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นๆ และเมื่อพบหลักฐานที่จะชี้ได้ว่าอาจมีการกระทำผิดเกิดขึ้น จะดำเนินการให้ส่วนตรวจสอบทำการตรวจสอบเชิงลึกต่อไป
- ส่วนกำกับการซื้อขายอนุพันธ์ (Derivatives Surveillance ) ทำหน้าที่ติดตามการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ และตรวจสอบเบื้องต้น (Preliminary Investigation) โดยเมื่อพบความผิดปกติจะทำการตรวจสอบว่าราคาซื้อขายมีการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสินค้าอ้างอิง / index และ/หรือปริมาณการซื้อขายกระจุกตัวหรือไม่ ซึ่งหากพบบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายความผิดตามข้อบังคับตลาดอนุพันธ์ และ/หรือพรบ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า จะดำเนินการส่งส่วนตรวจสอบการซื้อขายต่อไป
- ส่วนตรวจสอบการซื้อขาย (Investigation) ทำหน้าที่ตรวจสอบเชิงลึก สำหรับการซื้อขายที่พบว่ามีลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือความผิดตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งหากพบว่ามีมูลเหตุที่เชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามข้อกฎหมายก็จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อดำเนินการตรวจสอบและลงโทษต่อไป