คุณกำลังชอปปิงเกินตัวอยู่หรือเปล่า

โดย กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
FL_คุณกำลังชอปปิงเกินตัวอยู่หรือเปล่า_Thumbnail
Highlight

ในยุคที่การซื้อสินค้าทำได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว ทำให้หลายคนหักห้ามใจไม่ไหวต้องชอปปิงออนไลน์ โดยเฉพาะช่วงเงินเดือนออกก็ต้องรีบเข้าแอปพลิเคชันเพื่อซื้อของที่อยากได้ แน่นอนถ้ามีวินัยในการใช้จ่ายคงไม่เกิดปัญหาหนี้สิน แต่หากชอปปิงเพลินอาจต้องกลายเป็นคนมีหนี้สินรุงรัง ดังนั้น ก่อนจะซื้ออะไรควรถามตัวเองให้ดี ๆ ก่อนเสมอ

ทุกวันนี้ถ้าเราอยากซื้อของสักชิ้น แทนที่จะต้องเดินออกไปหน้าปากซอยหรือขับรถไปห้างสรรพสินค้า ก็แค่หยิบโทรศัพท์มือ ถือมาเครื่องเดียวก็สามารถกดซื้อของให้มาส่งถึงหน้าประตูบ้านได้ เพราะเทคโนโลยีทำให้ได้รับความสะดวกสบาย แต่ก็ตามมาด้วยการเสียเงินได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

 

เมื่อการซื้อขายง่ายเพียงคลิกเดียว หลายคนจึงชื่นชอบการชอปปิงออนไลน์ ที่นอกจากจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น บางครั้งยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าเพราะมีโค้ดส่วนลด มีเครดิตเงินคืน และประหยัดค่าเดินทางอีกด้วย แต่ถ้ามีพฤติกรรมชอบชอปปิงตลอดเวลา ถึงแม้จะซื้อของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแล้วก็ยังอดใจไม่ไหวที่จะขอพ่วงสินค้าฟุ่มเฟือย หรือเมื่อเดินห้างแล้วเห็นป้าย Sale ก็ต้องแวะทุกครั้งโดยไม่คำนึงถึงสถานะการเงินของตัวเอง ถ้าเป็นแบบนี้ควรระวัง เพราะอาจเข้าข่ายเสพติดการชอปปิงโดยไม่รู้ตัว

 

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่าการชอปปิงกลายเป็นโรคทางจิตได้หากมากเกินไป ผู้ที่เป็นโรคนี้จะอยากซื้อของตลอดเวลา รู้สึกดีเมื่อได้เดินดูของ ได้เปรียบเทียบราคาและได้ซื้อของ แต่ก็มักจะรู้สึกดีอยู่แค่ช่วงเวลาเดียว และจะรู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อมาแล้วเพราะมักเป็นของที่ไม่จำเป็น หรือเป็นการซื้อของเดิมซ้ำ ๆ

 

อย่างไรก็ตาม สมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (The American Psychiatric Association) ยังไม่ได้จัดให้การเสพติดการชอปปิงเป็นโรคหรืออาการทางจิต จึงยังไม่มีแนวทางการรักษาอย่างชัดเจน แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงในเรื่องนี้อยู่ เช่น นักจิตวิทยาบางคนเห็นว่าควรจัดแยกให้เป็นการป่วยทางจิต (Mental Illness) ในรูปแบบหนึ่ง เพื่อจะได้ช่วยกันหาแนวทางการบำบัดรักษา และการวินิจฉัยในเรื่องนี้ ซึ่งก็มีผู้เชี่ยวชาญที่เห็นด้วยกับความคิดนี้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชอปปิงเกินตัว

1. ความสะดวกสบายในการซื้อของออนไลน์ ไม่ว่าจะผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชอปปิงเกินตัวได้ กว่าจะรู้ตัวของก็เต็มบ้านแล้ว

2. สื่อโฆษณาจากช่องทางต่าง ๆ รวมถึงดารา นักแสดง และเหล่า Influencer เมื่อได้เห็นบ่อย ๆ ก็ทำให้เกิดความอยากได้อยากมี หรือเพียงเพราะซื้อตามบุคคลที่ตัวเองชื่นชอบ

3. ความต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคมหรือกลุ่มคนที่ตัวเองต้องการเป็นส่วนหนึ่ง จึงเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัว ซื้อเสื้อผ้าใหม่ ซื้อแบรนด์เนม หรือทำกิจกรรมเพื่อเข้าสังคม เช่น ตีกอล์ฟ ออกงานปาร์ตี้ เป็นต้น

4. การซื้อเพราะสิ่งเร้าหรือถูกกระตุ้น ในบางครั้งที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เร่งรีบ อาจทำให้ตัดสินใจโดยขาดเหตุผล เช่น เมื่ออยู่ในช่วง Midnight Sale หรือสินค้าที่มีเพียงชิ้นเดียว ถือเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้ตัดสินใจใช้เงินได้ง่าย เพราะกลัวการสูญเสีย

5. บรรเทาความรู้สึกแง่ลบที่เกิดขึ้นในใจ เมื่อรู้สึกเหงา เศร้า เสียใจ หรือเครียด หลายคนมักหาทางออกด้วยการชอปปิงเพื่อเยียวยาจิตใจ



ผลลัพธ์ของการชอปปิงเกินตัว

แม้ในทางจิตวิทยา การชอปปิงถือเป็นการบำบัดหรือเครื่องมือผ่อนคลายประเภทหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่สามารถควบคุมการใช้จ่ายได้ก็อาจทำให้เครียดหนักยิ่งกว่าเดิม หากมีหนี้สินหรือมีปัญหาทางการเงินตามมา และอาจเป็นปัญหากับคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดในภายหลังเมื่อต้องปกปิดบิลค่าใช้จ่ายหรือต้องคอยซ่อนสิ่งของที่ซื้อมา ที่แย่กว่านั้น คือ ไปเบียดเบียนเงินกองกลางหรือเงินเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว ดังนั้น สัญญาณอันตรายที่พอจะบอกได้ว่าถึงเวลาต้องระมัดระวังการใช้จ่ายเงินแล้ว คือ

  • มีของที่ไม่จำเป็น ไม่ได้ใช้เต็มบ้าน ไม่รู้ว่าซื้อมาทำไม และยังคงซื้อซ้ำ

  • มีปัญหาการเงิน ใช้บัตรเครดิตจนเต็มวงเงิน เงินไม่พอใช้ ต้องขอหยิบยืมคนอื่น

  • มีความลับกับคนใกล้ตัว กลัวว่าจะมีปัญหา เลยไม่กล้าพูดความจริงเรื่องการใช้จ่ายเงิน

 

ถ้าหากกำลังประสบปัญหาเสพติดการชอปปิงอยู่ อยากจะลาขาดจากวงจรนี้เสียที ลองดู 5 วิธีจัดการต่อไปนี้

1. หางานอดิเรกใหม่ ๆ ในบางครั้งเราอาจจะรู้สึกเบื่อ เหงา ไม่มีอะไรทำเลยจึงเลือกที่จะชอปปิง ทำไมไม่ลองหากิจกรรมอื่นที่ช่วยให้ผ่อนคลายและสนุกไปด้วย เช่น ฝึกเล่นโยคะ เดินเล่นในสวน ปั่นจักรยาน หรือหามุมสงบอ่านหนังสือ

2. จดรายการที่ต้องซื้อ โดยทุกครั้งเมื่อต้องเดินเข้าห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ต และลองท้าทายตัวเองว่าจะไม่ซื้ออะไรเกินจากลิสต์นี้ ถ้าทำได้ก็ลองให้คะแนนตัวเอง ถือเป็นชัยชนะเล็ก ๆ ในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง

3. ขอความช่วยเหลือจากเพื่อน หากกลัวว่าจะหักห้ามใจไม่ได้เมื่อต้องซื้อของ ลองชวนเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจให้คอยเตือนคอยห้าม คอยดึงสติ หรืออาจมอบหน้าที่ให้คนอื่นในครอบครัวเพื่อซื้อของเข้าบ้านแทนก็ได้

4. จ่ายเป็นเงินสด เตรียมเงินไปให้พอดีกับของที่ต้องซื้อ เช่น ถ้าตั้งงบซื้อของสดสำหรับทำอาหารสัปดาห์ละ 2,000 บาท ก็เตรียมเงินสดไปแค่นั้น ที่สำคัญห้ามใช้บัตรเครดิต แต่อาจมีติดกระเป๋าไว้สำหรับยามฉุกเฉินเท่านั้น

5. ยกเลิกการเป็นสมาชิกเว็บ Shopping Online ไม่รับข่าวสารหรือโปรโมชันใด ๆ รวมถึงลบแอปพลิเคชันซื้อขาย เพื่อตัดสิ่งเร้า หรือปัจจัยที่กระตุ้นความต้องการออกไป


หากคิดว่ากำลังเผชิญปัญหาการชอปปิงอย่างหนัก หาทางออกไม่ได้ ควรพูดคุยกับคนที่คุณรักและไว้ใจ เพราะการได้รับแรงสนับสนุนและความเข้าใจจากคนใกล้ชิดเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ เพื่อปรับพฤติกรรม และทำการแก้ไขได้ทันท่วงที

 

เทคนิควางแผนชอปปิงให้เหมาะสม

1. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อจะได้รู้กระแสเงินสดที่เหลือต่อเดือน (หรืออาจจะไม่เหลือเลย) และสามารถตั้งงบชอปปิงได้

2. หากเดือนไหนชอปปิงเกินงบที่ตั้งไว้ ให้หยุดใช้ทันที และประเมินดูว่าหมดเงินไปกับค่าใช้จ่ายอะไร ต้องพิจารณาลดในเดือนถัดไปหรือไม่

3. ตั้งสติก่อนซื้อ คิดให้ดีก่อนว่าของชิ้นนี้จำเป็น (Need) หรือไม่ หรือเป็นแค่ความอยากได้อยากมี (Want)

4. ถ้ายังลังเลว่าจะซื้อดีหรือไม่ ให้กลับไปคิดก่อนหนึ่งคืน หรือกดสินค้าลงตะกร้าไว้ก่อน แล้วรออีก 24 ชั่วโมง ค่อยตัดสินใจชำระเงิน ความอยากได้ในตอนแรกอาจจะลดลงไป หรือไม่อยากได้แล้ว

5. เปรียบเทียบราคาก่อนซื้อ ดูโปรโมชันหรือรอซื้อตอนช่วงลดราคา ซึ่งปัจจุบันมักมีช่วง Sale อยู่เป็นประจำ

6. ไม่พกเงินสดติดตัวมากเกินไป เมื่อไรก็ตามที่เปิดกระเป๋าตังค์แล้วเห็นว่ามีเงินเยอะ จะรู้สึกว่าสามารถช้อปได้อีกเรื่อย ๆ จนอาจเผลอใช้จ่ายจนเกินตัว

7. เน้นคุณภาพสินค้ามากกว่าดูเพียงแค่ราคา หากเป็นสินค้าชิ้นใหญ่ที่ต้องใช้ยาวนานหลายปี เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ หากมีการรับประกันสินค้าและบริการหลังการขายก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแล บำรุงรักษา

8. อย่าซื้อของปริมาณมากจนเกินไป การซื้อปริมาณมากมักมีราคาถูกกว่าก็จริง แต่ถ้าใช้ไม่ทัน สินค้าเสื่อมสภาพหรือหมดอายุ ก็อาจทำให้จ่ายแพงกว่า

9. หักเงินออมเท่ากับยอดใช้จ่าย หากกลัวว่าจะใช้เงินหมดจนไม่เหลือเก็บ ลองหักออมทุกครั้งหลังชอปปิง

10. ใช้บัตรเครดิตให้เกิดประโยชน์ หากใช้แล้วได้ส่วนลดหรือเครดิตเงินคืน แต่ต้องไม่จ่ายขั้นต่ำ ต้องชำระเต็มเท่านั้น


การวางแผนในการใช้จ่ายเงินอาจดูเหมือนไม่จำเป็น เพราะใคร ๆ ก็รู้จักวิธีใช้เงิน แต่ถ้าขาดการยับยั้งชั่งใจ ไม่คำนึงถึงความจำเป็น ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต อาจมีผลลัพธ์ที่รุนแรงตามมาในภายหลังได้ ดังนั้น หากรู้ตัวเองว่าเข้าข่ายเป็นโรคเสพติดการชอปปิง ควรหาทางเลิกให้เร็วที่สุดและอย่าอายที่จะขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับนักช้อป และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการออมเงิน และเทคนิคในการจัดการพฤติกรรม สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร พฤติกรรมทำไม? 5 นิสัยการเงินเจ้าปัญหา และเทคนิคในการจัดการ” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่



บทความที่เกี่ยวข้อง