การพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อความยั่งยืน
![]() |
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทย โดยเป็นกลไกและช่องทางระดมทุนของผู้ประกอบการธุรกิจให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน อีกทั้งเป็นช่องทางการออมและสร้างดอกผลจากการลงทุนของประชาชน ตลอดจนเป็นแหล่งความรู้เรื่องการเงินการลงทุนของผู้ลงทุน เยาวชน และประชาชนทั่วไป
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมุ่งสร้างภูมิคุ้มกันตลาดทุนด้วยหลักบรรษัทภิบาล ควบคู่กับการยกระดับตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ทันสมัย มีคุณภาพ โปร่งใส และสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ต่างๆ ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมุ่งมั่นพัฒนาตลาดทุนไทยให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการผลักดันนโยบายส่งเสริมการเติบโตเชิงปริมาณและคุณภาพไปพร้อมกับการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ตลาดทุนระยะยาวสู่ปี 2563 “Towards Sustainable Growth” ให้มีความมั่นคง สร้างความมั่งคั่ง และเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งผลักดันผู้เกี่ยวข้องให้ร่วมมือกันขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
กรอบการพัฒนาความยั่งยืนของ SET
จากการกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาความยั่งยืนของตลาดทุนในระยะยาวสู่ปี 2563 “Towards Sustainable Growth” ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พิจารณาถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพองค์กร ให้สอดรับกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียและบริบทขององค์กรเป็นสำคัญ อีกทั้งมีการวิเคราะห์หลักการและมาตรฐานระดับสากล เช่น Dow Jones Sustainability Indices (DJSI), Global Reporting Initiative (GRI) รวมทั้งศึกษากลยุทธ์การพัฒนาความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำในต่างประเทศ จากกระบวนการศึกษาดังกล่าวทำให้ได้กรอบการพัฒนาความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ (SET Sustainable Stock Exchange framework) ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างคุณค่าตลาดทุน การบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน การพัฒนาและดูแลพนักงาน การพัฒนาและดูแลสังคม และการจัดการสิ่งแวดล้อม
ในปี 2558 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร (SET Sustainable Stock Exchange Strategy) ภายใต้กรอบ 5 ด้าน โดยมีสาระสำคัญคือ การสร้างความเข้มแข็งจากภายในสู่ภายนอกและการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสื่อสารกับพนักงานเพื่อให้เกิดการรับรู้และร่วมมือกันขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุตามเป้าหมายของกลยุทธ์
ผู้มีส่วนได้เสียของ SET
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตระหนักว่าผู้มีส่วนได้เสียมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนขององค์กร จึงมุ่งมั่นพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมให้มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงพัฒนาให้มีช่องทางการรับส่งข้อมูลสู่ผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลาย ทั่วถึง และรวดเร็ว โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในการรับรู้ข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม
ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของ SET
ในปี 2558 ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดขอบเขตการพัฒนาความยั่งยืนให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงบริบทด้านความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ฯ (sustainability context) และความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder inclusiveness) รวมถึงการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญ (materiality analysis) เพื่อให้การพัฒนาความยั่งยืนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย
|
![]() |
การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรของ UN Sustainable Stock Exchange (SSE) initiative
ตั้งแต่ปี 2557 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วม UN Sustainable Stock Exchanges (SSE) initiative ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ 4 แห่ง ได้แก่ United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD), United Nations Global Compact (UNGC), United Nations Principles for Responsible Investment (UNPRI) และ United Nations Environment Program Finance Initiative (UNEP FI) เพื่อสร้างเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนทั่วโลกให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์และตลาดทุนให้มีความยั่งยืนภายใต้กรอบสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG)
ปี 2558 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมมือกับ SSE initiative จัดการประชุมสำหรับผู้นำระดับสูงของตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียน “United Nations Sustainable Stock Exchanges Regional Dialogue: South East Asia 2015” เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาแนวทางการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์อย่างยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียนให้มีการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม ภายใต้กรอบบรรษัทภิบาล การประชุมดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม