TOP 5 กอง Thai ESG เปิดขาย 15 วันแรก

โดย สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน
SS Article Banner_1200x660 - Top5 TESG
Highlight

ปีนี้ วันที่ 29 ธ.ค. เป็นวันหยุด จึงซื้อกองทุน Thai ESG ได้ไม่เกินวันที่ 28 ธ.ค. นะครับ และต้องไม่เกินช่วงบ่าย (อย่ารอจนเย็น) ตามกำหนดเวลาที่ธนาคาร หรือ บลจ.แต่ละแห่งกำหนด

กองทุนลดหย่อนภาษี Thai ESG ของ บลจ. 16 แห่ง ได้เปิดขายไปแล้ว 15 วัน  ยอดรวม ณ วันที่ 22 ธ.ค. 66 มียอดรวมกันใกล้ถึง 3,000 ล้านบาท หลายท่านได้เข้าซื้อลงทุนกันไปแล้ว รวมทั้งผมด้วย  และคาดว่าในช่วง 23-28 ธ.ค. จะมีผู้ที่ตามเข้ามาสมทบอีกจำนวนมาก  เพียงแต่ยังรอดูจังหวะ และอาจยังใช้เวลาเลือกดูว่าจะไปเข้าที่กองไหน กับเลือกของ บลจ.ไหน  รวมถึงเทียบค่าบริหารกองทุนและค่าใช้จ่ายในชื่ออื่น ๆ ของแต่ละกองทุนมาเทียบกัน

เราลองมาดูว่า 15 วันแรก ใครเป็นผู้นำ 5 อันดับแรก ของการมีมูลค่าทรัพย์สินกองทุน (NAV) มากที่สุด  เพื่อให้คุณผู้อ่านได้รู้ว่า กองที่เราได้เลือกไป มีเพื่อน ๆ ร่วมอุดมการณ์ในกองเดียวกันมากหรือเปล่า  ขณะที่คุณผู้อ่านที่ยังเลือกไม่เสร็จ อาจได้จุดตัดสินใจว่าเลือกไปทางเดียวกับคนกลุ่มใหญ่  หรือจะใช้ทฤษฎีสวนทางไม่ไปกับคนส่วนใหญ่ก็เป็นได้  

บลจ.ที่กวาดยอดไปได้มากที่สุด 5 อันดับ

1
อันดับ 1 บลจ.กสิกรไทย
กวาดไปได้ 582 ล้านบาท โดยตั้งแค่กองเดียวเน้น ๆ ในแบบ Passive Fund (ลงทุนแบบเกาะไปตามดัชนีอ้างอิง) ชื่อ เคTarget Net Zero ชนิดเก็บสะสมกำไรโดยไม่จ่ายปันผล เป็นกองที่จะเกาะไปกับหุ้นดัชนี SET100 TRI ที่มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ผมมีข้อสังเกตว่า ข้อมูลการเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จริง ในหนังสือชี้ชวน แจ้งไว้ว่าเก็บค่อนข้างต่ำกว่าคู่ต่อสู้ โดยเก็บเพียง 0.67% ต่อปี (ไม่รวมกรณีสับเปลี่ยนกองทุนไป บลจ.อื่น) 
2
อันดับ 2 บลจ.ไทยพาณิชย์

ยุทธวิธีของ บลจ.นี้แตกต่างจากทางกสิกรอย่างมาก  โดยตั้งประเภทกอง Thai ESG ไว้ถึง 6 แบบด้วยกัน  แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ แบบกองผสม (หุ้นและตราสารหนี้แบบยืดหยุ่นน้ำหนัก) แบบกอง Active (คือใช้ฝีมือผู้จัดการกองทุนมากและคิดค่าธรรมเนียมสูง)  และแบบกอง Passive (ลงทุนแบบเกาะน้ำหนักตามดัชนี และคิดค่าธรรมเนียมต่ำ)  ทั้งนี้ ทั้ง 3 แบบข้างต้น ก็จะแบ่งกองเป็น 2 ชนิดให้เลือก คือ แบบจ่ายปันผล กับไม่จ่ายปันผล อีกด้วย สรุปแล้วจึงมี 6 กองทุน  เมื่อรวมกัน มียอด NAV รวมกันทั้ง 6 กอง 515 ล้านบาท  เท่าที่ดูตัวเลขรายกอง พบว่า แบบกองผสมมียอดซื้อมากสุด  และกองที่มีนโยบายปันผลมียอดสูงกว่ากองที่ไม่มีนโยบายปันผล

3
อันดับ 3 บลจ.บัวหลวง
ตั้งกองเดียวในแบบกอง Active ชื่อ บัวหลวงทศพลไทยเพื่อความยั่งยืน ตั้งเป้าลงทุนหุ้นที่มี ESG ที่ดี และคัดเลือกว่าจะให้ผลตอบแทนดีที่สุด 10 อันดับแรก เก็บค่าธรรมเนียมในระดับกลาง ๆ ราว 1.6% ต่อปี สอดคล้องกับความเป็นกอง Active ซึ่งผมสังเกตว่าเก็บต่ำกว่ากอง Active ของหลายค่ายที่เก็บแถว 2%ต่อปี  ผลจากยุทธวิธีนี้ บัวหลวงเข้าป้ายได้สูงเป็นอันดับ 3 รวม NAV ล่าสุด 421 ล้านบาท
4
อันดับ 4 บลจ.กรุงไทย

ใช้ยุทธวิธีออกเป็น 3 กอง ใน 3 แนวทางให้เลือก คือ 1.แบบผสมหุ้น ESG เกรด A กับตราสารหนี้ ในสัดส่วน 70/30  ส่วนแนวทาง 2. Active Fund ลงในหุ้น ESG เกรด A  และแนวทาง 3. หุ้น ESG 50 ตัวที่ใหญ่สุด  โดยทั้ง 3 กองมีนโยบายจ่ายปันผลเช่นเดียวกัน สามารถกวาดยอด NAV มาได้รวมกัน 277 ล้านบาท โดยกองที่ขายดีสุดคือกองแบบผสมหุ้นกับตราสารหนี้ 70/30 

5
อันดับ 5 บลจ.เกียรตินาคินภัทร

ซึ่งมาด้วยการเสนอเป็น 2 กองทุนที่ต่างกัน 2 ขั้ว คือ กองพันธบัตรรัฐบาล  กับกองหุ้นในแนว Active Fund ซึ่งนับเป็นเครือธนาคารเล็กที่กวาดยอดได้มากที่สุด รวมได้ถึง 231 ล้านบาท โดยกองพันธบัตรขายดีกว่ากองหุ้น

Top5 TESG attachment

ส่วนอีก 11 บลจ. เช่น กรุงศรี ทิสโก้ ยูโอบี และ บลจ.อื่น ๆ นั้นก็มียอดลดหลั่นกันลงไป ตั้งแต่ 100 กว่าล้านบาท ลงไปถึงระดับหลายสิบล้านบาท และน้อยสุดคือ ต่ำกว่า 10 ล้านบาท 

เมื่อพิจารณายอดของแต่ละกอง Thai ESG แล้ว ผมมีข้อสังเกตถึงตัวแปรที่มีผลต่อยอดการซื้อของผู้ลงทุน ดังนี้ครับ

  • เครือธนาคารใหญ่ได้ยอดค่อนข้างสูง อาจหมายถึงมีฐานลูกค้ามากกว่า ความสะดวกใน App ที่มีอยู่เดิม และจำนวนสาขาบริการ หรือเป็นแบรนด์ที่นึกได้ทันทีที่สนใจซื้อ ผลจากประเด็นนี้ ทาง บลจ.ที่อยู่เครือธนาคารเล็กหรือไม่อยู่ในเครือธนาคารอาจต้องเร่งประชาสัมพันธ์อีกหน่อย เพราะแต่ละ บลจ.ก็มีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนกัน 
  • อาจไม่จำเป็นต้องมีแยกจำนวนกองมาก ๆ ก็มียอด NAV มากกว่าได้ แบบอันดับ 1 กสิกรไทย กับอันดับ 3 บัวหลวง สันนิษฐานว่าจำนวนกองที่น้อยทำให้เจ้าหน้าที่และลูกค้าทำความเข้าใจได้ง่ายและเร็ว ช่วยให้กระบวนการซื้อเกิดขึ้นเร็วด้วย
  • ค่าธรรมเนียมต่ำมีผลพอสมควร ตัวอย่างจากอันดับ 1 กสิกร มีระบุค่าธรรมเนียมที่เก็บจริงค่อนข้างต่ำกว่า บลจ.อื่น ซึ่งในกรณีกอง Thai ESG มีข้อบังคับให้ต้องถือยาว 8 ปีเต็ม นั่นจึงหมายถึง ผู้ซื้อกองทุนจะมีค่าใช้จ่ายสูงเป็น 8 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อปีที่ประกาศ อัตราที่ต่างกัน 1-1.5% ต่อปี  เมื่อถือไป 8 ปี จึงมีค่าใช้จ่ายกันต่างกันรวม 8-12%  ดังนั้น หาก บลจ.ใดจะมีแคมเปญเรื่องคิดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ดึงดูดใจ ผมแนะนำให้ประกาศเด่น ๆ ชัด ๆ น่าจะขายดีขึ้นครับ
  • ในรายที่มีหลายกองนั้น กองที่ผสมตราสารหนี้กับหุ้น ขายดีกว่า คาดว่าผู้ลงทุนรู้สึกสบายใจในความเสี่ยงที่ลดลง
  • ระหว่างกองที่ปันผลกับไม่ปันผล ผู้ซื้อเหมือนจะชอบกองที่จ่ายปันผลมากกว่า ทั้งที่ว่า การรับเงินปันผลต้องเสียภาษีของเงินปันผล แต่ถ้าเก็บสะสมเอาไว้จนวันที่เราอยู่ครบ 8 ปี ไปขายรับเงินทั้งหมดจะไม่เสียภาษี  ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ลงทุนชอบรับปันผลจากกำไรเป็นรายได้ประจำปี  หรือเป็นเพราะไม่ได้รับทราบว่า ถ้ารับปันผลจะถูกเก็บภาษี ณ ที่จ่ายนะครับ

ท้ายนี้ ผมขอเรียนแจ้งไปยังท่านที่เตรียมเข้าซื้อกอง Thai ESG ในช่วงท้าย ๆ ปีว่า ปีนี้ วันที่ 29 ธันวาคมเป็นวันหยุด  จึงซื้อได้ไม่เกินวันที่ 28 ธันวาคมนะครับ  และต้องไม่เกินช่วงบ่าย (อย่ารอจนเย็น) ตามกำหนดเวลาที่ธนาคารหรือ บลจ. แต่ละแห่งกำหนด  ส่วนประเด็นที่ว่าน่าซื้อไหม ใครมีฐานภาษีเท่าไรจะได้กำไรทันทีเท่าไร ผมเขียนและทำตารางไว้ตั้งแต่ฉบับเดือนก่อน อ่านได้ตาม Link นี้นะครับ https://www.set.or.th/th/about/setsource/insights/article/383-thai-esg



บทความที่เกี่ยวข้อง