เข้าใจค่าเสียหายส่วนแรกของประกันรถยนต์

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
SS Article Banner_1200x660-car-insurance-excess-and-deductible

ประกันรถยนต์เป็นเรื่องที่เจ้าของรถทุกท่านควรต้องเอาใจใส่ เพราะการที่เราออกถนนทุกวัน โอกาสการเกิดอุบัติเหตุย่อมมีเสมอ แม้เราไม่ประมาท คนอื่นอาจประมาท มาเฉี่ยวชนเราได้

การทำประกันรถยนต์ ไม่แตกต่างจากการทำประกันชีวิต ที่เราต้องพิจารณาเลือกทำประกันให้เหมาะสมกับรถของเรา เพื่อให้ความคุ้มครองที่ได้ตรงกับที่เราต้องการ โดยเทียบกับเบี้ยประกันที่ต้องชำระแล้วคุ้มค่ามากที่สุด

วิธีหนึ่งในการประหยัดเบี้ยประกันรถยนต์ ก็คือ การที่เรา (ผู้เอาประกัน) รับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก เมื่อเราต้องรับผิดชอบความเสียหายส่วนแรก แต่เรารู้หรือไม่ว่า ค่าเสียหายส่วนแรกมีกี่แบบ ค่าเสียหายส่วนแรก มีอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่แบบ Excess และ Deductible

ค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Excess

ค่า Excess หมายถึง ค่าเสียหายส่วนแรกแบบภาคบังคับ ซึ่งจะมีระบุไว้ในเงื่อนไข โดยจะมีข้อกำหนดว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้ใช้รถจะต้องรับผิดชอบร่วมกับบริษัทประกันภัยเป็นค่าเสียหายส่วนแรก 1,000 บาทต่อเหตุการณ์แต่ละครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ (แม้จะมีประกันชั้น1 ก็ต้องจ่าย) เพื่อป้องกันกรณีแจ้งเคลมซ่อมรถโดยไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจริง หรือจากการขับรถประมาท ยกตัวอย่างเช่น หากรถเราได้รับความเสียหายจากการเฉี่ยวชน หรือโดนกิ่งไม้ขูด จนเกิดความเสียหาย แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไร หรือใครเป็นคนทำ เราก็จะต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก

ภาระในการรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรกของผู้เอาประกันภัยแบบ Excess  แบ่งออกเป็น 2 กรณี

กรณีที่ 1 รถได้รับความเสียหายอันมิได้เกิดจากการชนหรือคว่ำ ได้แก่
  • ความเสียหายจากการมุ่งร้าย กลั่นแกล้ง เช่น รถถูกบุคคลอื่นทุบทำลาย ขูดขีดหรือขีดข่วนให้ได้รับความ เสียหาย โดยไม่สามารถระบุตัวผู้กระทํา วัน เวลา และสถานที่ที่รถได้รับความเสียหายได้ชัดเจน เช่น มีรอยขีดข่วนจากของมีคม หรือถูกกลั่นแกล้ง
  • ความเสียหายจากการกระทบกับวัตถุ สิ่งของ ทำให้รถได้รับความเสียหายเฉพาะพื้นผิวของสีรถ โดยไม่ทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของตัวรถ และ/หรืออุปกรณ์ของรถได้รับความเสียหายถึงขนาดบุบ แตก ร้าว เช่น มีรอยบุบเพราะหินหรือวัสดุใดๆ กระเด็นใส่
  • ไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้รถได้รับความเสียหายได้ชัดเจน รวมถึงไม่สามารถระบุวัน เวลา และสถานที่ที่รถได้รับความเสียหายได้ชัดเจน

ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้รวมถึงความเสียหายจากภัยธรรมชาติซึ่งทําให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของตัวรถนอกจากพื้นผิวของสีรถ เสียหายด้วย เช่น รถเสียหายจากภัยน้ำท่วม ลมพายุพัดต้นไม้หักมาทับรถได้รับความเสียหาย กิ่งไม้ขนาดใหญ่หล่นใส่รถเป็นเหตุให้รถบุบ เป็นต้น

กรณีที่ 2 รถคันที่เอาประกันภัยเกิดเหตุได้รับความเสียหายอันเกิดจากการชน และผู้เอาประกันภัยไม่สามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้

หมายถึง กรณีที่รถคันเอาประกันภัยถูกรถคันอื่นเฉี่ยวชนหรือเฉี่ยวชนรถคันอื่นได้รับความเสียหาย และผู้เอาประกันภัยไม่สามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้เท่านั้น

ในกรณีรถชนกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่รถ เช่น รั้ว ต้นไม้ สัตว์ ก้อนหิน ฯลฯ ที่ทําให้ตัวรถ และ/หรือ อุปกรณ์ ได้รับความเสียหาย บุบ แตก ร้าว ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก แต่ต้องสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงลักษณะการเกิดเหตุ วัน เวลา และสถานที่อย่างชัดแจ้ง

ดังนั้น ถ้าไม่เข้า 2 กรณีข้างต้น เราก็ไม่ต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรก เช่น รถชนเข้ากับพาหนะอื่นและสามารถแจ้งรายละเอียดของคู่กรณีได้ รถชนเข้ากับคนหรือสัตว์ หรือรถพลิกคว่ำ

ค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Deductible

ค่า Deductible คือ ค่าเสียหายส่วนแรกแบบสมัครใจ เป็นค่าเสียหายส่วนแรกที่เรายอมเสียให้กับบริษัทประกันภัยทุกครั้งที่มีการเคลมในอุบัติเหตุที่เราเป็นฝ่ายผิด

ตัวอย่าง

หากเราทำประกันรถแบบรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Deductible ไว้ในกรมธรรม์ 5,000 บาท เกิดอุบัติเหตุโดยเราเป็นฝ่ายผิด มีค่าซ่อมรถเรา 12,000 บาท นั่นหมายความว่าบริษัทประกันจะจ่าย 7,000 บาท และเราจะจ่าย 5,000 บาท แต่หากค่าซ่อมรถเพียง 3,000 บาท เราก็ควรเลือกจ่ายเองดีกว่านะ อย่าเคลมประกันให้เสียประวัติ เพราะยังไง เราก็ต้องจ่ายเองทั้ง 3,000 บาท เพราะไม่ได้เกินกว่าค่าเสียหายส่วนแรกที่เราต้องรับผิดชอบ จะได้ไม่เสียประวัติเคลม ด้วยวิธีนี้จะไม่ส่งผลต่อเบี้ยประกันรถยนต์และส่วนลดประกันภัยรถยนต์ ประวัติดี

เมื่อเราทำประกับแบบเรารับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรกแบบมี Deductible แสดงว่าบริษัทประกันรับผิดชอบน้อยลง เบี้ยประกันต้องลดลงตามไปด้วย หากเราอยากประหยัดเบี้ยประกัน ในขั้นตอนการทำประกัน เราต้องเลือกที่จะจ่ายค่า Deductible ซึ่งจะช่วยลดเบี้ยประกันตามจำนวนค่า Deductible ที่เราระบุไว้ ดังนี้

สำหรับความคุ้มครองต่อรถยนต์ที่เอาประกัน

  • 5,000 บาทแรก ลดเบี้ย 100% ของความเสียหายส่วนแรก
  • ส่วนที่เกิน 5,000 บาทแรก ลดเบี้ย 10% ของจำนวนเงินความเสียหายส่วนแรก

สำหรับความคุ้มครองต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก

  • 5,000 บาทแรก ลดเบี้ย10% ของเงินความเสียหายส่วนแรก
  • ส่วนที่เกิน 5,000 บาทแรก ลดเบี้ย 1% ของจำนวนเงินความเสียหายส่วนแรก

ดังนั้น หากเราเป็นคนขับรถอย่างระมัดระวังอยู่แล้ว การเลือกซื้อประกันรถแบบมี Deductible ก็น่าเป็นทางเลือกที่ดีช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าในภาวะที่เงินหายากอย่างปัจจุบัน



บทความที่เกี่ยวข้อง