รู้ทันกลโกง จับกลลวงให้ทัน

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
SS Article Banner_1200x660 - Fraud
Highlight

การป้องกันตัวจากกลโกงทำได้ยากมาก เพราะมิจฉาชีพมาทุกรูปแบบ และพัฒนาวิธีการโกงไปเรื่อย มีการใช้จิตวิทยาในการหลอกให้เราเชื่อ ไม่ว่าจะหลอกด้วยความโลภ หรือความกลัว สำคัญเราต้องมีสติ

มีคำกล่าวที่ว่า “เมื่อไรก็ตามที่เศรษฐกิจมีปัญหา เมื่อนั้นปัญหาอาชญากรรมจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ปัญหาอาชญากรรมของสังคมไทยในปัจจุบัน" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 24 สิงหาคม 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง พบว่า สาเหตุหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมของสังคมไทย

  • 80% สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ชีวิต ความเป็นอยู่ และเทคโนโลยี
  • 44.32% ความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย ผู้กระทำผิดจึงไม่เกรงกลัว จึงได้ใจและกล้าที่จะกระทำผิด
  • 42.72% จิตใจของผู้คนมักขาดสติ ไม่ใช้สติในการแก้ไขปัญหา ขาดศีลธรรม
  • 34.80% พื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวที่แตกต่างกัน
  • 04% เกิดจากพฤติกรรมการเลียนแบบจากสื่อหรือคนรอบข้าง
  • 22.32% ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
  • 0.96% การใช้ยาเสพติด

ซึ่งก็น่าจะสะท้อนปัญหาการโกงที่มากอย่างไม่เคยพบมาก่อนในขณะนี้ได้ เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การขาดศีลธรรม และความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรม ทำให้ ณ วันนี้มีการโกงเกิดขึ้นทุกวินาที ข้อมูลสถิติการแจ้งความออนไลน์ผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 31 มกราคม 2566 มีเรื่องร้องเรียน 207,678 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 29,244 ล้านบาท มีการหลอกลวงออนไลน์เฉลี่ยวันละ 100 ล้านบาท และคนร้ายกว่า 95% ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านแทบทั้งสิ้น โดยเมื่อเหยื่อถูกหลอกลวงสำเร็จ เงินทั้งหมดจะถูกถ่ายโอนไปยังต่างประเทศทันที และตามคืนมาได้เพียงแค่ 10% เท่านั้น ซึ่งเงินที่ถูกโอนออกไปจะกลับถูกฟอกกลับเข้ามาผ่านการซื้ออสังหาฯ จำนวนมาก โดยอาชญากรส่วนใหญ่ทำงานเป็นทีมลักษณะออแกไนซ์ มีทั้งฝ่ายจิตวิทยา ฝ่ายซอฟต์แวร์ วางแผนการหลอกลวงแบบเป็นขั้นเป็นตอน จนทำให้คนส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย

เมื่อการตามเงินคืนเมื่อถูกโกงแทบเป็นไปไม่ได้ การป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกโกงน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า เราลองมาดูนะว่ามิจฉาชีพหลอกเราอย่างไร

รูปแบบการหลอกลวงทางโลกออนไลน์ที่มิจฉาชีพใช้กันมาก ก็คือ Phishing (ฟิชชิง) หรือบางทีก็เรียก Fishing ที่แปลว่าการ "ตกปลา" นั่นเอง ซึ่ง Phishing นั้นมีความหมายถึง การปล่อยให้ปลามากินเหยื่อที่ล่อไว้ Phishing เป็นคำที่มีความหมายกว้างๆ คือ การหลอกให้เหยื่อมาติดกับเอง เหมือนการตกปลาที่รอปลามางับเหยื่อที่ล่อไว้เอง โดยลักษณะการหลอกลวงแบบ Phishing ที่พบเห็นมากในสื่อโซเชียลตอนนี้ ก็คือ

กลโกงที่อาศัย “ความโลภ”

ไม่ว่าจะเป็นการอยากได้ของดี ราคาถูก หรืออยากได้ผลตอบแทนสูง หรืออยากได้เงินมาก หรือ อยากได้ความรู้ ฯลฯ ทุกอย่างมิจฉาชีพทำหมด ที่พบบ่อย คือ

การหลอกลงทุน ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เสนอผลตอบแทนที่จูงใจและสูงเกินจริง ทำนองรวยง่าย รวยเร็ว รวยจริง แต่ไม่บอกที่มาของผลตอบแทนให้ชัดเจน หรือชวนให้เข้ากลุ่มโพยหุ้น หรือชวนให้เข้ากลุ่มสอนการลงทุน ฯลฯ วิธีสังเกต

  • มีการสร้างโปรไฟล์ให้น่าเชื่อถือ อย่างเช่น CEO เจ้าของธุรกิจ เซียนหุ้นชื่อดัง ผู้บริหารภาครัฐ ฯลฯ
  • จะมียอดไลค์เยอะมาก และมีคอมเมนท์บอก “สนใจ” เต็มไปหมด
  • คลิกไปที่หน้าเพจของสื่อนั้น ลองกดที่ “about” เพจจะเพิ่งสร้างไม่นาน และไม่มีกิจกรรมของเพจเลย ถ้าเป็นเพจของบุคคลธรรมดา มักจะใส่รูปอื่นที่ไม่ใช่รูปตนเองเป็นหน้าโปรไฟล์ ช่องทางการติดต่อส่วนใหญ่เป็นการทักเข้าหาเราทางแชท messenger หรือชวนให้เข้ากลุ่มไลน์
  • ชักจูงให้โอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา (อันนี้สำคัญ ถ้าเจอแบบนี้ 100% โกง) เพราะบัญชีม้าทำไม่ยาก แต่มีบ้างเหมือนกัน ให้โอนเข้าบัญชีนิติบุคคล แต่น้อยมาก เพราะการเปิดบัญชีนิติบุคคลทำยากกว่า และสามารถสืบไปยังเจ้าของนิติบุคคลได้ แต่ล่าสุดก็มีเหมือนกัน มิจฉาชีพมาในรูปแบบของการเป็นบริษัทเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และหลอกให้ทำงานออนไลน์ เป็นงาน "คอนเฟิร์มออเดอร์" เราจะต้องทำการใส่เงินเข้าไปในระบบจากนั้นทำการคอนเฟิร์มสินค้า เมื่อทำถึงจำนวนที่กำหนดก็เสร็จสิ้นภารกิจ จะได้รับเงินรางวัล วิธีตรวจสอบบริษัทนี้มีตัวตนจริงหรือไม่ ให้เข้าเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ https://datawarehouse.dbd.go.th/index
    1. ดูงบการเงินว่ามีรายได้จากการประกอบธุรกิจหรือไม่ ถ้าไม่มีรายได้ แนวโน้ม “โกง”
    2. สถานะ “ยังดำเนินกิจการอยู่” หรือไม่ ถ้าสถานะ “เลิก” แนวโน้ม “โกง”
    3. วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง จัดตั้งมานานหลายปีหรือไม่ ถ้าเพิ่งตั้งไม่นาน แนวโน้ม “โกง”

การหลอกขายของ วิธีสังเกต คือ มักขายของถูกกว่าที่ควรจะเป็น โดยมิจฉาชีพจะเข้ามาหาเหยื่อในกลุ่มซื้อขายของออนไลน์ใน Facebook และมักจะทักขายของที่เราสนใจให้เราทาง messenger วิธีสังเกต

    1. จะเพิ่งเข้าในกลุ่มที่เราเป็นสมาชิกไม่นาน ไม่มีกิจกรรมในกลุ่ม
    2. ไปดูหน้า Facebook มักจะเพิ่งสร้างไม่นาน ไม่มีกิจกรรมในเพจ
    3. ก่อนชำระเงิน
      • เช็กรูปสินค้า โดยเช็กได้จาก Google ว่ารูปนี้เคยโพสต์ที่ไหนมาแล้วบ้าง เจ้าของใช่คนเดียวกับคนที่ขายให้เราหรือไม่
      • เช็กข้อมูลผู้ขายที่ https://www.blacklistseller.com/ หรือ https://chaladohn.com/check

กลโกงที่อาศัย “ความกลัว”

กลโกงนี้มักจะมาทางโทรศัพท์ วิธีนี้จะเป็นการส่งข้อความเข้าโทรศัพท์ของเหยื่อ เพื่อสร้างความตกใจให้เหยื่อติดต่อกลับ และเมื่อเหยื่อติดต่อกลับ จะได้ยินเสียงปลายสายเป็นระบบตอบรับอัตโนมัติ พอเหยื่อได้ยินก็ยิ่งกระตุ้นความรู้สึกให้เหยื่อตกใจกลัวมากขึ้น เรื่องที่นิยมใช้หลอกเหยื่อทางโทรศัพท์มีดังนี้

  • บัญชีเงินฝากถูกอายัดหรือเป็นหนี้บัตรเครดิต มิจฉาชีพจะหลอกถามฐานะทางการเงินของเหยื่อ ถ้ามีเงินไม่มากก็จะให้เหยื่อทำรายการโอนเงินให้มิจฉาชีพผ่านตู้เอทีเอ็ม (ATM) แต่ถ้าเหยื่อมีเงินเยอะก็จะให้เหยื่อทำรายการโอนเงินให้มิจฉาชีพผ่านเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ(ADM) และจะให้เลือกทำรายการ เป็นภาษาอังกฤษ โดยหลอกว่าให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดไปให้ตรวจสอบ
  • บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติด หรือการฟอกเงิน โดยมิจฉาชีพจะใช้วิธีหลอกถามฐานะการเงินของเหยื่อก่อน ถ้าพบว่าเหยื่อมีเงินมากจะแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ เช่น เจ้าหน้าที่ ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) เจ้าหน้าที่ ปปส. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) หลอกให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดไปให้ตรวจสอบ อย่างล่าสุด มีเพื่อนถูกหลอกโอนเงิน โดยมิจฉาชีพโทรมาบอกว่า มีคนเอาบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีเงินฝากแล้วหลอกคนไปหลายร้อยคน มีหน้าสมุดบัญชีที่เป็นชื่อเพื่อนจริง มีหมายคดี แถมมีข้อมูลเพื่อนถูกต้องทุกอย่าง สุดท้ายบอกเป็นคดีเกี่ยวกับการฟอกเงินต้องยึดของกลาง คือ “อายัดบัญชีเงินฝาก” ก่อน ให้เพื่อนแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการโอนของกลาง คือ เงินฝาก เข้าไปบัญชี “นาย.....” (อย่างที่เตือน ถ้าโอนเข้าบัญชีบุคคลธรรมดาเมื่อไหร่ คือ โกง 100%) เพื่อนก็เอะใจเหมือนกัน แต่ทางมิจฉาชีพเอาเอกสารยืนยันว่าบัญชี “นาย...” ดังกล่าวเป็นบัญชีของหน่วยงานพิเศษ (ซึ่งก็ปลอมอีกเช่นกัน) สุดท้ายสูญเงินไป 2 ล้านบาท
  • หลอกติดตั้งแอป แล้วดูดเงิน อย่างกรณีล่าสุด ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ถูกมิจฉาชีพอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่หลอกให้ตนติดตั้งแอปพลิเคชันกรมที่ดิน โดยเมื่อติดตั้งแอปเสร็จแล้ว ปลายสายแนะนำให้ยืนยันรหัสโอทีพีและการสแกนหน้า 2-3 ครั้ง ตลอดการพูดคุยมีการประวิงเวลาเพื่อไม่ให้วางสายและออกจากแอปพลิเคชัน ความเสียหายร่วม 1 ล้านบาท โดยเหตุผลที่หลงเชื่อคือ มิจฉาชีพมีข้อมูลที่ตรงกับผู้ที่จะเสียภาษี และเป็นช่วงที่ต้องเสียภาษี รวมถึงไลน์ที่ติดต่อและแอปพลิเคชันมีโลโก้ของกรมที่ดินจริง และยังสามารถบอกรายละเอียดหน้าจอขณะดาวน์โหลด รวมถึงเลขข้อมูลโฉนดที่ดินได้ถูกต้อง ซึ่งตัวเองยอมรับว่าพลาดที่ไม่ทันระวัง เนื่องจากขณะนั้นทำงานอื่นไปด้วย จึงไม่ทันสังเกต

สรุป จุดสังเกต

  • ถ้าให้ในสิ่งที่เหลือเชื่อ ท่องไว้เลย “เหลือเชื่อ” คือ อย่าไปเชื่อ ไม่ว่าจะให้เงินหรือผลตอบแทนที่สูงจนเกินจริง
  • ถ้าให้โอนเงินเข้าบัญชีบุคคลธรรมดา คือ โกง
  • ถ้าอ้างเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ เช่น ปปส. สรรพากร กรมที่ดิน ฯลฯ ให้กดลิงค์แอดไลน์ โหลดแอป หรือให้โทรไปตามเบอร์ที่ให้ อย่าไปเชื่อ คือ โกง ให้ติดต่อหน่วยงานนั้นโดยตรง
  • แม้จะให้ข้อมูลเชิงลึกของเราได้อย่างถูกต้อง ก็อย่าไปเชื่อ เพราะหลายกรณีที่โดนหลอก ก็เพราะเห็นว่ารู้ข้อมูลละเอียด ไม่น่าจะเป็นมิจฉาชีพ สุดท้ายก็ถูกหลอก

แต่การป้องกันตัวจากกลโกงทำได้ยากมาก เพราะมิจฉาชีพมาทุกรูปแบบ และพัฒนาวิธีการโกงไปเรื่อย มีการใช้จิตวิทยาในการหลอกให้เราเชื่อ ไม่ว่าจะหลอกด้วยความโลภ หรือความกลัว สำคัญเราต้องมีสติ



บทความที่เกี่ยวข้อง