ข้อควรรู้ ! เมื่อนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้ลูกจ้าง

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
SS Article Banner_1200x660 - employers social contributions
Highlight

เมื่อเราทำงาน ไม่ว่านายจ้างจะจ่ายค่าจ้างเราหรือไม่ หรือนายจ้างจ่ายค่าจ้างแต่ไม่ได้ส่งเงินสมทบประกันสังคม ตามกฎหมายก็ถือว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้เราตามระยะเวลาที่เราทำงาน ส่วนเรื่องที่นายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบประกันสังคมเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับกองทุนประกันสังคมครับ โดยกรณีนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบประกันสังคม มีความผิด

ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิก (เรียกว่า ผู้ประกันตน) ที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกันตน คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าลูกจ้างอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่นายจ้างยังจ้างให้ทำงานต่อให้ถือเป็นผู้ประกันตนต่อไป โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มที่ทำงานประจำ ต้องจ่ายเงินสมทบตามกฎหมาย (มาตรา 33)
  2. กลุ่มที่เคยทำงานประจำ แต่ลาออกและไม่ได้สมัครงานประจำต่อ ซึ่งเคยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือนตอนที่ยังทำงานประจำอยู่ และลาออกจากงานประจำไม่เกิน 6 เดือน เมื่อลาออกแล้วยังสมัครใจที่จะจ่ายเงินสมทบอยู่ (มาตรา 39)
  3. กลุ่มที่ไม่ได้ทำงานประจำ (ฟรีแลนซ์) อายุ 15-60 ปี เลือกจ่ายเงินสมทบเองเพื่อให้ได้สิทธิประกันสังคม (มาตรา 40)

ซึ่งตามข้อกำหนดของประกันสังคมได้กำหนดไว้ว่า “นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่  1 คนขึ้นไป จะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง พร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนด้วยกับทางประกันสังคม โดยต้องขึ้นทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่มีการจ้างงาน เมื่อมีการจ้างลูกจ้างใหม่ก็จะต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายในกำหนด 30 วัน เช่นเดียวกัน และนายจ้างจะต้องเป็นผู้หักเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง โดยต้องมีการคำนวณเงินสมทบค่าจ้าง ฐานของเงินค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยลูกจ้างจะถูกหักจ้างเงินเดือน 5% ตามด้วยเจ้าของกิจการ (นายจ้าง) จ่ายสมทบ 5% และรัฐบาลจ่ายสมทบอีก 2.75%

เมื่อมีลูกจ้างลาออกไป นายจ้างก็มีหน้าที่ต้องแจ้งเอาชื่อลูกจ้างออกจากประกันสังคมด้วยเช่นเดียวกัน โดยต้องระบุสาเหตุของการออกจากงาน ต้องแจ้งภายใน 15 วันของเดือนถัดไปหักเงินสมทบและนำส่งประกันสังคม” นายจ้างที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม ทำให้ลูกจ้างไม่ได้เป็นผู้ประกันตน และไม่ได้รับสิทธิจากประกันสังคมนั้น ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ นายจ้างถือว่ามีความผิด

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้ลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นเพราะนายจ้างไม่จ่ายเงินเดือน หรือนายจ้างจ่ายเงินเดือนแต่ไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้ลูกจ้าง จะเป็นอย่างไร

สำหรับนายจ้างถือว่ามีความผิด ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับลูกจ้าง เกี่ยวกับเรื่องนี้ ใครที่ทำงานฟรีไม่ได้รับเงินเดือน หรือนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้ สบายใจได้นะ  เพราะเรื่องนี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐาน ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๓๕๑/๒๕๖๑ (คดีฟ้องสำนักงานประกันสังคม) เรื่อง กรณีที่นายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง ต้องถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้ว เมื่อนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างจำนวน ๘ เดือน ลูกจ้างส่งเงินสมทบ ๑๗๕ เดือน รวมแล้วลูกจ้างจึงส่งเงินสมทบทั้งสิ้น ๑๘๓ เดือน ต้องรับบำนาญชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๗ ทวิ วรรคหนึ่ง

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัท ร. จำกัด ต่อมาโจทก์สิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตน ในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๗ รวมระยะเวลาที่โจทก์จ่ายเงินสมทบ ๑๗๕ เดือน โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับเงินบำนาญชราภาพ โจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะโจทก์ส่งเงินสมทบเพียง ๑๗๕ เดือน โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์ วินิจฉัยยกอุทธรณ์ โจทก์จึงฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณี ชราภาพแก่โจทก์เป็นเงินบำเหน็จชราภาพ ศาลแรงงานภาค ๒ พิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๔๗

  • วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้นายจ้างหักค่าจ้างของผู้ประกันตนตามมาตรา ๔๖ และให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง”
  • วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้นายจ้างนำเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนที่ได้หักไว้ตามวรรคหนึ่ง และเงินสมทบในส่วนของนายจ้างส่งให้แก่สำนักงานภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดไปจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้...”
  • วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามกำหนดเวลาที่ต้องจ่าย ให้นายจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง โดยถือเสมือนว่ามีการจ่ายค่าจ้างแล้ว”

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้นายจ้างหักค่าจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของ ผู้ประกันตน จึงต้องแปลความหมายของบทบัญญัติทั้งสามวรรคไปในทำนองเดียวกัน

  • วรรคหนึ่ง เป็นกรณี นายจ้างจ่ายค่าจ้าง บทบัญญัติดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้ว โดยไม่คำนึงว่านายจ้างได้หักค่าจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนจริงหรือไม่
  • วรรคสาม เป็นกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง บทบัญญัติดังกล่าวให้ถือเสมือนว่านายจ้างได้จ่ายค่าจ้างแล้ว แม้ไม่ได้บัญญัติให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วก็ตาม แต่เมื่อนายจ้างมีหน้าที่หักค่าจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน โดยไม่คำนึงว่านายจ้างได้หักค่าจ้างนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนจริงหรือไม่ และการแปลความซึ่งต้องให้สอดคล้องกับบทบัญญัติวรรคหนึ่ง จึงถือได้ว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้ว

โดยนายจ้างต้องรับผิดชำระหนี้เงินสมทบดังกล่าวต่อจำเลยตามมาตรา ๔๗ ทวิ และมาตรา ๕๐ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๒ – ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ จำนวน ๘ เดือน โจทก์จึงส่งเงินสมทบรวมทั้งสิ้น ๑๘๓ เดือน ต้องรับบำนาญชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๗ ทวิ วรรคหนึ่ง พิพากษายืน

สรุปก็คือ เมื่อเราทำงาน ไม่ว่านายจ้างจะจ่ายค่าจ้างเราหรือไม่ หรือนายจ้างจ่ายค่าจ้างแต่ไม่ได้ส่งเงินสมทบประกันสังคม ตามกฎหมายก็ถือว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้เราตามระยะเวลาที่เราทำงาน ส่วนเรื่องที่นายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบประกันสังคมเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับกองทุนประกันสังคมครับ โดยกรณีนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบประกันสังคม มีความผิดดังนี้

  • นายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้กับลูกจ้าง นายจ้างจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
  • นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมล่าช้า เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไป นับจากเดือนที่จ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง จะต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน นับจากวันที่ครบกำหนด

ยกตัวอย่างเช่น ค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม นายจ้างจะต้องหักเงินสมทบและนำส่งประกันสังคมภายในวันที่ 15 เมษายน แต่นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมในวันที่ 30 เมษายน ดังนั้นนายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 เป็นเวลา 15 วัน (ครึ่งเดือน)

  • นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมไม่ครบถ้วน จะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินสมทบที่จ่ายขาด

หากเราไม่สบายใจ ไม่แน่ใจว่าเรายังเป็นสมาชิกหรือไม่ เราก็สามารถตรวจสอบข้อมูลสิทธิประกันสังคม ได้ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 เข้า Google พิมพ์คำว่า “ประกันสังคม” จากนั้นกดเข้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม  https://www.sso.go.th  
ขั้นตอนที่ 2 กรอกรหัสประจำตัวประชาชน 13 หลักและรหัสผ่าน จากนั้นกด “เข้าสู่ระบบ”  (กรณียังไม่ได้ลงทะเบียน ก็ต้องสมัครสมาชิกก่อนนะ)
ขั้นตอนที่ 3 กดที่ไอคอน “เข้าสู่ระบบ”
ขั้นตอนที่ 4 สามารถตรวจสอบข้อมูลของเราได้



บทความที่เกี่ยวข้อง