เป็นหนี้ ! เจ้าหนี้อายัดอะไรได้บ้าง ?

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
SS Article Banner_1200x660 - debt

ปัจจุบัน ปัญหาหนี้สำหรับคนไทยเป็นปัญหาใหญ่ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีเงิน ก็ต้องเอาไปใช้หนี้ และเป็นบ่อเกิดของปัญหาทางการเงินในอนาคตอีกด้วย

จากข้อมูลสินเชื่อในระบบจากเครดิตบูโร คนไทย 25 ล้านคน (1 ใน 3 ของประชากรไทย) มีหนี้ในระบบ โดยมีมูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อคนมากถึง 527,000 บาท และ 1 ใน 5 กำลังมีหนี้เสีย (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2565) และที่น่ากังวลก็คือ

1
60% ของบัญชีหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2565)
ซึ่งเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยสูง ทำให้มีภาระผ่อนต่อเดือนที่สูง ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งถึงแม้จะมีสัดส่วนยอดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงใกล้เคียงกับไทย แต่ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่สามารถสร้างรายได้หรือความมั่นคงได้
2
หนี้ส่วนใหญ่อยู่กับกลุ่มผู้กู้ที่มีปัญหาด้านความสามารถในการชำระหนี้
โดยกลุ่มวัยเริ่มทำงานมีสัดส่วนการใช้สินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้สูงที่สุดและมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุดด้วยถึง 1 ใน 4 ส่วนเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยเป็นสองกลุ่มผู้กู้ที่มีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) สูงที่สุด สุ่มเสี่ยงที่จะชำระหนี้ไม่ได้ หรือชำระได้เพียงดอกเบี้ยหรือบางส่วน ส่งผลให้ปัจจุบันคนไทยกว่า 8 ล้านคนกำลังมีหนี้เสีย (ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของคนไทยที่เป็นหนี้) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2565)

เมื่อชำระหนี้ไม่ได้ ก็อาจถูกยึดหรืออายัดทรัพย์

คำว่า "ยึด" มีความหมายกว้างๆ ว่าการกระทำการใดๆ ต่อทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกยึดเพื่อให้ทรัพย์สินนั้นได้เข้ามาอยู่ในความควบคุม ดูแล หรือครอบครองของผู้ดำเนินการยึดทรัพย์สินนั้น ส่วนคำว่า "อายัด" มีความหมายกว้างๆ ว่า การสั่งให้บุคคลที่ถูกอายัดทรัพย์สิน หรือบุคคลภายนอกมิให้จำหน่าย จ่าย โอน หรือกระทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่ได้สั่งอายัดไว้

การอายัดเงิน ตามกฎหมายใหม่ (พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่ 30 พ.ศ.2560)

เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน เจ้าหนี้มีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้ โดยตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อออกหมายอายัดต่อไป

การอายัดเงินเดือน โบนัส ค่าตอบแทนต่างๆ หากเจ้าหนี้รายแรกขออายัดเงินเดือนแล้ว เจ้าหนี้รายอื่นจะทำเรื่องขออายัดซ้ำไม่ได้ ต้องรอคิวให้รายแรกอายัดครบก่อน หรืออาจจะขอหารส่วนแบ่งเงินที่ถูกอายัดจากเจ้าหนี้รายแรกก็ได้ ถ้ารอก็จะรอได้ไม่เกิน 10 ปี หากเกิน 10 ปีก็จะหมดอายุความ

หลักเกณฑ์การอายัดเงินเดือน

  1. หากลูกหนี้เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง หรือเป็นพนักงานบริษัททั่วไป จะถูกอายัดเงินเดือนค่าจ้าง เบี้ยขยัน ค่าล่วงเวลา ก่อนหักภาษีและประกันสังคม ดังนี้
    • เงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท อายัดไม่ได้
    • เงินเดือนเกิน 20,000 บาท เจ้าหนี้สามารถร้องขออายัดส่วนที่เกิน 20,000 บาทได้ แต่จะต้องเหลือไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท
  1. ค่าล่วงเวลา (โอที) เงินเบี้ยขยัน ค่าคอมมิชชั่น ถูกอายัดได้ไม่เกิน 30%
  2. เงินโบนัส ถูกอายัดได้ไม่เกิน 50%
  3. เงินตอบแทนกรณีออกจากงาน ถูกอายัดได้ 100%
  4. เงินค่าคอมมิชชั่น ถูกอายัดได้ 30%
  5. เงินค่าตอบแทนต่างๆ / ค่าสวัสดิการต่างๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตำแหน่ง ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าทรัพย์สิน เป็นต้น ถูกอายัดได้ 100%
  6. บัญชีเงินฝากธนาคาร ถูกอายัดได้ทั้งหมด
  7. เงินสหกรณ์ (เงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน เงินค่าหุ้นสหกรณ์) ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานบริษัท ถูกอายัดได้ทั้งหมด
  8. ร่วมทุนกับผู้อื่นเปิดบริษัท หากผู้ร่วมลงทุนมีปัญหาถูกอายัดทรัพย์ ถูกอายัดได้เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกอายัดเท่านั้น
  9. หุ้น ถูกอายัดได้ทั้งหมด

สิทธิเรียกร้องที่อายัดไม่ได้

  1. เงินเดือนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ
  2. เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
  3. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทำกับบริษัท (พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ)
  4. เงินค่าวิทยฐานะ (ค่าตำแหน่งทางวิชาการ) ถ้าเป็นข้าราชการจะไม่ถูกอายัด แต่ถ้าเป็นสังกัดเอกชนจะถูกอายัด เพราะถือว่าเป็นเงินเดือน
  5. เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ หรือลูกจ้างของรัฐบาล เว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
  6. เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง คนงานที่นายจ้างจ่ายให้รวมกัน ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท หรือตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร
  7. บำเหน็จ ค่าชดเชยหรือรายได้ของลูกหนี้ ที่ไม่ใช่บุคลากรในหน่วยงานราชการ ไม่เกิน 300,000 บาท
  8. เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ได้รับอันเนื่องมาจากความตายของบุคคลอื่น
  9. เบี้ยคนพิการ เบี้ยคนชรา

หากลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ ในครอบครัว เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา หรือค่ารักษาพยาบาลโรคประจำตัว สามารถนำหลักฐานไปขอลดหย่อนที่สำนักบังคับคดี เพื่อให้ลดเปอร์เซ็นต์การอายัดเงินเดือนได้ โดยการยื่นเป็นคำร้องขอลดอายัด เจ้าพนักงานพิจารณาลดอายัดเงินได้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง เช่น เงินเดือน 30,000 บาท ถูกอายัด 10,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถลดให้ได้ 5,000 บาท หากต้องการให้ลดยอดอายัดมากกว่านี้ ก็จะต้องใช้สิทธิทางศาล โดยการยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง

 



บทความที่เกี่ยวข้อง