“Governance” ยังเป็นเรื่องใหญ่ มีผลอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน

โดย SET
SET-Source-Q-คุณนครินทร์-วนกิจไพบูลย์

“Governance” ยังเป็นเรื่องใหญ่ มีผลอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน

ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังเผชิญความท้าทายหลายด้านในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ 1. เรื่องธรรมาภิบาล (Governance) ที่ยังเป็นประเด็นสำคัญและมีผลอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน 2. บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะทำให้เข้าถึงได้ (Accessible) สำหรับทุกคน ซึ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 3. การเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ทั้งในแง่ของนักลงทุนต่างชาติและภาพลักษณ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระดับโลก

"ในมุมมองของผม ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมีการปรับตัว หรือ Transform ครั้งใหญ่ เพราะความท้าทายมันซับซ้อนขึ้น เร็วขึ้น หลากหลายขึ้น และคงไม่สามารถทำงานแบบที่เคยประสบความสำเร็จมาในอดีตได้ คงต้องปรับตัวหลายอย่างให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป"

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่โตนัก สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทย ในขณะที่พฤติกรรมนักลงทุนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Dynamic) จากหลายสาเหตุ เช่น สถาบันการเงินเปิดแพลตฟอร์มให้ลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น นักลงทุนมีตัวเลือกเปรียบเทียบมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ มากมายในต่างประเทศ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ส่งผลให้ความน่าสนใจของตลาดทุนไทยลดลง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการที่ต้องการระดมทุนก็มีทางเลือกเพิ่มขึ้น มีกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) ที่พร้อมสนับสนุน มีนักลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ และกองทุนเพื่อการลงทุนในกิจการ (Private Equity) เกิดขึ้นมากมาย ผู้ประกอบการหลายรายบอกว่าตลาดทุนไม่ใช่ทางเลือกเดียวอีกต่อไป

 

ในฐานะสื่อ ประทับใจบทบาทการให้ความรู้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างมาก ทั้งเรื่องการส่งเสริมความรู้ทางการเงินและเรื่องความยั่งยืน

 การให้ความรู้ทางการเงิน ทั้งเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) และความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) เกี่ยวกับการลงทุน การฉ้อโกง และความเสี่ยงต่าง ๆ ให้กับประชาชนทั่วไป ส่งผลให้คนให้ความสำคัญกับสุขภาพทางการเงิน (Financial Wellbeing) มากขึ้น

"อย่างไรก็ตามเรื่องข่าวปลอม (Fake News) ต่าง ๆ เป็นปัญหาร้ายแรงกว่าที่คิด มีการนำคนที่มีชื่อเสียง นักลงทุนชื่อดัง ไปทำภาพโปรโมท ทำให้ภาพรวมไม่ดี ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่แค่ตลาดหลักทรัพย์ฯ"

ความยั่งยืน (Sustainability) ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามสื่อสารและผลักดันอย่างเต็มที่ โดยมีการออกตัวชี้วัดใหม่ พัฒนารูปแบบการรายงาน และส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรในตลาดทุนเห็นความสำคัญ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำได้ดี แต่ยังมี 2 ประเด็นท้าทาย คือ ทำอย่างไรให้แนวคิดนี้เข้าถึงองค์กรที่หลากหลายมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ และอีกประเด็นเกี่ยวกับธรรมาภิบาล (Governance) แม้ประเทศไทยจะติดอันดับ Dow Jones Sustainability Index ในระดับต้นๆ และมีดัชนีความยั่งยืนต่าง ๆ แต่ดัชนีเหล่านี้สะท้อนความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด นี่เป็นเรื่องธรรมาภิบาลที่ต้องมีการวัดผลที่เป็นรูปธรรม

อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้จากหนังสือที่ระลึกตลาดหลักทรัพย์ฯ  ครบรอบ 50 ปี ได้ที่ https://50th-anniversary.setgroup.or.th/
 


บทความที่เกี่ยวข้อง