ย้อนรอยเวลาของการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย-ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดทำการวันแรก เมื่อ 30 เมษายน 2518 หลายคนมีเรื่องเล่า ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทั้งความสุข สนุก ตื่นเต้น ทุกข์ เศร้า เคล้ากันในหลากอารมณ์
วันนี้-2568 ผ่านวัย เดินทางมาถึงกาล 50 ปี มองภาพรวมระดับประเทศ จะพบว่าเป็นอีกหนึ่งแหล่งระดมทุนของผู้ประกอบการ แหล่งออมเงินของผู้ลงทุน มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ และเป็นเฟืองจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
กลุ่มบุคคลยุคก่อตั้งในยุคนั้น มองการณ์ไกล พวกเรารู้ดีว่า โลกการเงิน การลงทุน ที่เชื่อมร้อยกันทั่วโลกนั้น มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การมี “ตลาดหุ้น” จึงเป็นองค์ประกอบที่จำเป็น และต้องลงมือทำแบบไม่รีรอ
จินตนาการ สัจธรรม มองผ่านสัญลักษณ์ที่มาของโลโก้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันนี้-ที่พวกเราเห็นกัน เป็นปรัชญาที่ล้ำลึก ซ่อนความหมายลึกซึ้งเตือนใจผู้ลงทุน ว่า มีมืด มีสว่าง มีขาว มีดำ มีความเสี่ยง มีผลตอบแทน
3 ปีหลังการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เจอวิกฤต “ราชาเงินทุน” เมื่อปี 2521-2522 หุ้นราชาเงินทุน วิ่งจากราคา 275 เป็น 2,470 บาทต่อหุ้น จนกระทรวงการคลังต้องเข้ามาดูแล แก้ไขปัญหา
ปี 2525 ยุคโชติช่วงชัชวาล ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชัดเจนในฐานะเป็นแหล่งระดมทุน ความคึกคักที่ติดคอขวด เมื่อต้องเคาะกระดานด้วยมือของเทรดเดอร์ กลายเป็นข้อจำกัด แต่หากใช้คอมพิวเตอร์ น่าจะทำได้มากกว่าหนึ่งแสนออเดอร์ต่อชั่วโมง ต่อยอดความคิดในยุค “ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 5-ปี 2530 ที่เริ่มใช้ระบบคอมพิวเตอร์ อีก 4 ปีต่อมาจึงเต็มระบบ และมีพัฒนาการมาจนเป็นความทันสมัยในยุคนี้
ปี 2535 เกิดหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน คือ “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์-ก.ล.ต.” นับจากนั้นมา มีสองหน่วยงานที่เดินทางมาคู่กันของตลาดทุนไทย คือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. (จากเดิมกำกับโดยกระทรวงการคลัง)
ปี 2540 ยุควิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ทำให้พลิกแนวคิดในการพัฒนาเรื่องความรู้ในโลกของตลาดทุน ให้บังเกิดความเชื่อมั่น มีศรัทธาที่ตามมา
หลายเหตุการณ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นความทรงจำของผู้คนหลากหลายบรรจุไว้ในหนังสือเล่มสวย "SET 50th : 5 Decades of SET The Pillar of Growth & Sustainability" ความหนา 307 หน้า สี่สีตลอดเล่ม เป็นความทรงจำที่บันทึกไว้ น่าอ่าน ดื่มด่ำ ตื่นเต้น ลิงโลด และเต็มไปด้วยความหวัง
บรรทัดท้ายสุด เมื่อปิดปกลง โลกของการลงทุน ยังเน้นย้ำกับเรื่องความรู้คู่การลงทุน ควบคู่กับ “ความเชื่อมั่น” ที่เกิดจาก “ธรรมาภิบาล”
นิยามของระบบนิเวศวิทยาของตลาดทุนที่ดี คือ
บริษัทจดทะเบียนที่ดี-ผู้ลงทุนมีคุณภาพ-โบรกเกอร์มีคุณธรรม-ระบบซื้อขายที่มีประสิทธิภาพ
จึงจะเกิดผลลัพธ์ “ความยั่งยืน” ที่ทุกคนถวิลหา
บทความที่เกี่ยวข้อง