ตลาดทุนต้องจัดสรรทรัพยากรไปถึงต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะผู้พัฒนาตลาดทุนไทยเล็งเห็นความสำคัญของ บลจ. หรือ นักลงทุนสถาบันมานานมากแล้ว เพราะถ้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเพียงนักลงทุนรายย่อยอย่างเดียวจะขาดเสถียรภาพ บลจ. กับตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงทำงานร่วมกัน ผ่านร้อนผ่านหนาวด้วยกันมามาก
“บลจ. มีส่วนทำให้นักลงทุนรายย่อยมั่นใจในตลาดทุนมากขึ้น ภาพตลาดทุนเดิมถูกมองว่า เป็นกลไกทำกำไรหรือใช้ระดมทุนในวงแคบ ๆ ก็ขยายวงกว้างขึ้น ทำให้มีนักลงทุนใหม่ๆ ผ่านนักลงทุนสถาบัน ผ่านกองทุนจำนวนมากในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา”
ประกอบกับการที่ภาครัฐยังให้แรงจูงใจเรื่องภาษีกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากในมุมของบทบาทนักลงทุนสถาบันที่จะช่วยขยายฐานนักลงทุนให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้กับคนที่มีเงินน้อย ไม่มีเวลาดูแลเรื่องลงทุน จนเวลานี้นักลงทุนสถาบันไทยผ่านกองทุน LTF RMF น่าจะเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ฯ
นอกจากนี้ ยังทำให้มาตรฐานการระดมทุน การจัดการของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความแข็งแรงมากขึ้น เพราะนักลงทุนสถาบันจะใส่ใจมาตรฐานสำคัญ ๆ เช่น disclosure การเปิดเผยข้อมูล การบริหารจัดการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น และมาตรฐานอื่นๆ หรือที่เรียกในภาพรวมว่า ESG คือ ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล บลจ. จึงมีการร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ร่วมกันผลักดันแนวทางดังกล่าวต่อเนื่อง
บทบาทตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการจัดสรรทรัพยากร ต้อง allocate ในมุมสร้างกำไรผลตอบแทนที่สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศได้ภายใต้กรอบ ESG ขณะที่ปัจจุบันธุรกิจที่มุ่งในเรื่องความยั่งยืนสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ด้วย บทบาทของ บลจ. ในฐานะตัวกลาง คือ ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการสร้างความเข้าใจ สร้างมาตรฐานในวัด ประเมินเรื่องของความยั่งยืนลงบนความน่าสนใจในการลงทุน คือมีครบทั้งผลตอบแทนและความยั่งยืน
ทุกคนบอกว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นช่องทางระดมทุนที่ดี ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เปิดกว้างอย่างหลากหลาย ไม่ได้รับเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ แต่มีบริษัทขนาดเล็กขนาดกลางที่สามารถเข้ามาระดมทุนได้ เท่ากับตลาดหลักทรัพย์ฯ ดูแลธุรกิจกลางน้ำ และปลายน้ำ แต่ที่ยังขาดคือ ต้นน้ำ บริษัทหรือเด็กรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย ที่ยังเข้าไม่ถึงเงินทุนที่จะเอามาสร้างธุรกิจให้แข็งแรงพอเข้าตลาดได้ ถ้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากผู้มีส่วนร่วมก็อาจเอื้อมไปกลุ่มนี้ถึงได้
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีเยอะมาก มีการวางโครงสร้างพื้นฐานของการเป็นตลาดทุนที่สมบูรณ์ ทำให้มี efficiency ทำธุรกรรม settlement ได้เร็ว ทำได้อย่างมั่นใจว่าไม่มีข้อผิดพลาด รวมถึงเรื่อง FundConnext ที่ดีมาก จะเป็นแกนของ transactional capability หรือขีดความสามารถในการทำธุรกรรม ที่รวมถึงการวางระบบการซื้อขายกองทุนรวม
“ต้องชื่นชมตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มองภาพในฐานะ “enable” นอกเหนือจากการเป็นเพียง Trading platform ถ้าเปรียบเป็นเว็บ market ทั่วไป จะเห็นว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากให้คนเอาของมาขายในตลาด ยังช่วยให้การซื้อขายของบนตลาด และการเข้าถึงตลาดทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย”
จากการทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเป็นสิบปี ต้องบอกว่า กลไกทีมงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ แข็งแรงมากแล้วก็พัฒนาตลาดหลักทรัพย์ไทยมาได้ดีมากในหลายปีที่ผ่านมา มีความต่อเนื่อง มีนโยบายผลักดันให้บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ชัดเจนมากขึ้น แล้วก็ช่วยผลักดันในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศชาติ อย่างกรณี กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property fund) เป็นกลไกที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับ บลจ. สร้างขึ้น ถือเป็น Value creation ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดทุนไทยสร้างให้กับเอกชนไทยหรือประเทศไทยอย่างมหาศาล เห็นได้จากมูลค่าตลาดรวมของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property fund) หลายแสนล้านบาท
สำหรับประชาชนทั่วไป หรือผู้ลงทุนรายย่อยนั้น ขอให้วางแผนการเงินมากขึ้น ใส่ใจกับชีวิตการเงินของตนเอง ย้อนถามตัวเองว่ามีการวางแผนหรือไม่ หรือวางแผนละเอียดแค่ไหน เวลานี้มีคนไทยเริ่มตั้งเป้าหมายตอนเกษียณ แต่ระหว่างทางแรงจูงใจมันมีเยอะ จะแบ่งอย่างไร จะจัดการอย่างไร อยากให้คนไทย ประชาชนนักลงทุนทุกคนให้ดูแลตัวเอง ดูแลอนาคตให้ดี เพราะถ้าการเงินดีขึ้น อิสรภาพก็จะตามมา
บทความที่เกี่ยวข้อง