การพัฒนาตลาดการเงินไทยให้สอดรับกับภูมิทัศน์ภาคการเงินในอนาคต
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และมีบทบาทสำคัญร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการส่งเสริมการพัฒนาตลาดการเงินและตลาดทุนไทยให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน
ตลอดระยะเวลา 50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ที่ต้องการระดมทุนและผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดี โดยมีบริษัทที่จดทะเบียนใน SET และ mai กว่า 900 ราย ครอบคลุมผู้ลงทุนทั้งรายย่อย สถาบัน และต่างชาติ และยังมีผลิตภัณฑ์การลงทุนและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่หลากหลาย เช่น Gold Futures และ USD Futures ส่งผลให้ตลาดการเงินไทยมีความกว้างและลึก ตอบโจทย์ความต้องการทางการเงินของผู้เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีส่วนในการพัฒนาตลาดการเงินไทยให้สอดรับกับภูมิทัศน์ภาคการเงินในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น
1. การจัดตั้งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (TDX) รองรับการทำธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล
2. จัดตั้ง LiVE Exchange เพื่อเปิดโอกาสให้ SME และ Startup ระดมเงินจากตลาดทุน
3. การจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings และดัชนีความยั่งยืน SET THSI Index
ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาตลาดการเงิน ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน อาทิเช่น
1. การร่วมกันจัดตั้ง Working Group on Sustainable Finance (WG-SF) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนของภาคการเงินไทย
2. ออกมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม หรือ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้อ้างอิงในการขับเคลื่อนนโยบาย
3. ร่วมมือจัดทำโครงการระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure: DIF) เพื่อรองรับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัลในอนาคต รวมถึงการบริหารความเสี่ยงในตลาด Futures (TFEX)
การสนับสนุนให้คนไทยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้สะดวกขึ้น ตลอดจนความร่วมมือในระยะหลังที่เน้นการพัฒนาตลาดการเงินไทย อีกทั้งมีการจัดตั้ง Working Group on Sustainable Finance เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของภาคการเงินไทย
ในส่วนของการผลักดันเครื่องมือทางการเงินเพื่อความยั่งยืนนั้น บริษัทขนาดใหญ่ในไทยมีการยกระดับการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนไปพอควร สะท้อนจากบริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Index (DJSI) มีจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ในภาพรวมยังต้องเร่งในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล ตลอดจนการสร้างความตระหนักรู้และตื่นตัวให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในเรื่อง ESG ส่วน ธปท. ได้จัดทำแนวนโยบายและคู่มือปฏิบัติสำหรับสถาบันการเงิน ในการผนวกประเด็นสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการดำเนินธุรกิจ และให้มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นระบบข้อมูลกลางเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งในและนอกภาคการเงิน
ความสำคัญของ ESG และความก้าวหน้าด้านดิจิทัล ทำให้บริบทในตลาดการเงินเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ผลกระทบได้ยากขึ้น การพัฒนาการด้านการเงินที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและดิจิทัล ต้องทำควบคู่กับการป้องกันผลกระทบและความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น การยกระดับความรู้และทักษะทางการเงิน ทางด้านดิจิทัลให้แก่ประชาชน รวมถึงให้ความสำคัญกับเรื่อง Cybersecurity เพื่อป้องกันความเสียหายทางการเงินหรือชื่อเสียงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการให้บริการและการกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีนัยสำคัญเชิงระบบ จะต้องดูแลให้มีความมั่นคงปลอดภัย เป็นไปตามหลักการที่สากลยอมรับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน
ดังนั้น ตลาดเงินและตลาดทุนจะต้องมีความยืดหยุ่น (Resiliency) เพื่อให้สามารถรับมือกับสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ โดยส่งเสริมทักษะที่จำเป็นให้กับบุคลากรในตลาดการเงิน ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการปรับตัวและการแข่งขัน รวมถึงจัดเตรียมแผนสำรองกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
การดำเนินนโยบายจึงต้องสอดคล้องกับบริบทของประเทศและอยู่บนหลักการสำคัญ คือจังหวะเวลาและความเร็วที่เหมาะสม โดยต้อง “ไม่ช้าเกินไป” จนเกิดผลกระทบลุกลามจนไม่สามารถแก้ไขได้ และ “ไม่เร็วเกินไป” จนระบบเศรษฐกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อีกทั้งต้องประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและเตรียมแผนรองรับด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง