| ความเป็นมา | บทบาท | คณะกรรมการบริษัท & คณะอนุกรรมการ |
ความเป็นมา
บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด ปัจจุบันเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2547 โดยเริ่มแรกได้ทำหน้าที่ชำระราคาและส่งมอบสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ได้มีการโอนย้ายงานของสำนักหักบัญชีหลักทรัพย์ จากบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด มายัง บริษัท สำนักหักบัญชี ทำให้ในปัจจุบันบริษัท สำนักหักบัญชี ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ตลาดตราสารหนี้ (TBX) รวมถึงตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า อีกด้วย ซึ่ง ทำให้เกิดการบริหารงานและการจัดการที่ชัดเจน ลดต้นทุนในการบริหารความเสี่ยงและการวางหลักประกันโดยรวมของสมาชิกและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
การประกอบการในฐานะสำนักหักบัญชีของ บจ. สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) นั้นอยู่ภายใต้ พรบ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 สำหรับตราสารทุนและตราสารหนี้ และพ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 สำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้กำกับดูแลการประกอบธุรกรรมต่าง ๆ ของสำนักหักบัญชี
ทุนจดทะเบียนและการจัดองค์กร
บริษัท สำนักหักบัญชีฯ มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 600 ล้านบาท โดยมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของทุนจดทะเบียน
บทบาท
บจ. สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการชำระราคา โดยสำนักหักบัญชีจะเข้าแทนที่เป็นคู่สัญญา (Central Counterparty: CCP) และรับประกันการชำระราคาและส่งมอบในทุกๆ รายการซื้อขายที่เกิดขึ้น—หากสมาชิก--ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบิดพลิ้ว ไม่ปฏิบัติตามสัญญา สำนักหักบัญชีจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยจ่ายชำระราคา หรือ ส่งมอบหลักทรัพย์ให้กับคู่สัญญาแทน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงของคู่สัญญา (Counterparty risk) จากการซื้อขายในตลาดลดลง
ทั้งนี้การเข้าแทนที่เป็นคู่สัญญา (Central Counterparty: CCP) เกิดขึ้นในทันทีที่คำสั่งซื้อขายได้รับการจับคู่ในระบบซื้อขาย กล่าวคือ เมื่อผู้ลงทุนส่งคำสั่งซื้อหรือขายของตนผ่านสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ หรือสมาชิกตลาดอนุพันธ์ หรือ โบรกเกอร์ เข้ามายังระบบซื้อขายของตลาด และระบบจับคู่คำสั่งซื้อขายดังกล่าวแล้ว จากนั้น ตลาดจะยืนยันผลการจับคู่คำสั่งซื้อขายดังกล่าวกลับไปให้โบรกเกอร์ พร้อมกับส่งผลการจับคู่คำสั่งซื้อขายไปให้สำนักหักบัญชี ซึ่งสำนักหักบัญชีจะเข้าเป็นคู่สัญญา โดยตรงแก่สมาชิกทุกรายทันทีที่รายการซื้อขายได้รับการจับคู่ โดยสำนักหักบัญชีจะแบ่งรายการซื้อขายหนึ่งรายการออกเป็นสองสัญญา และสำนักหักบัญชีจะเป็นผู้ซื้อให้กับสมาชิกผู้ขาย และเป็นผู้ขายให้กับสมาชิกผู้ซื้อ กลไกนี้เรียกว่า กระบวนการแทนที่เป็นคู่สัญญา (Novation Process) ดังรูป

การเป็นคู่สัญญาของสำนักหักบัญชีดังกล่าว จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนทุกฝ่าย ซึ่งหมายถึงว่าคู่สัญญาจะปฏิบัติตามภาระผูกพันที่จะเกิดขึ้นตามการซื้อขาย ตรงตามจำนวน และ เวลาที่ได้ตกลงไว้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ บจ. สำนักหักบัญชี เป็นผู้รับประกันการชำระราคาในทุกรายการซื้อขายที่เกิดขึ้นในตลาดทำให้ความเสี่ยงของการซื้อขายในตลาดเป็นไปตามความน่าเชื่อถือของสำนักหักบัญชีนั้นเอง ซึ่งจะเสริมสร้างให้สมาชิกและผู้ลงทุนที่ซื้อขายในตลาดเชื่อมั่นในระบบชำระราคา
อย่างไรก็ตาม บจ.สำนักหักบัญชี จะรับประกันการชำระราคาสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์แบบทีละรายการ
คณะกรรมการบริษัท & คณะอนุกรรมการ
การจัดการใน บจ. สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริษัท (Board of Directors) ประกอบด้วย
1. นายภากร ปีตธวัชชัย ประธานกรรมการ
2. นางสาวภัทรวสี สุวรรณศร กรรมการผู้จัดการ
3. นางสาวรินใจ ชาครพิพัฒน์ กรรมการ
4. นายอภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า กรรมการ
5. นางกุลภัทรา สิโรดม กรรมการอิสระ
6. นางนงราม วงษ์วานิช กรรมการอิสระ
7. นายสอาด ธีรโรจนวงศ์ กรรมการอิสระ
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้ระบบการชำระราคาเป็นไปโดยยุติธรรม และสามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง สำนักหักบัญชีจะใช้เครื่องมือการทำงานอันหมายถึงระบบงานระหว่างสำนักหักบัญชีและสมาชิก ที่ทันสมัย รวดเร็ว ถูกต้อง และมีการควบคุม ดูแล ติดตามธุรกรรมชำระราคาของสมาชิกอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ บจ. สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) ยังได้จัดให้มีคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพธุรกิจหลักทรัพย์ และตลาดทุน ที่จะกลั่นกรองเรื่องต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนมีการดำเนินการประกาศใช้ หรือบังคับใช้กับสมาชิกของสำนักหักบัญชี คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการต่างๆ ได้แก่
1. คณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee)
2. คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Sub-committee)
3. คณะอนุกรรมการวินัย (Business Conduct Sub-committee)
4. คณะอนุกรรมการอุทธรณ์ (Appeal Sub-committee)
Legal Entity Identifier (LEI)
SET LEI |
: |
254900R211PTUP8K9M82 |
TFEX LEI |
: |
5493006G4X6OUMF0CE07 |
TCH LEI |
: |
5493006L9QU2265UKZ88 |
TSD LEI |
: |
254900IJQ6ZM0PD20H32 |