รวมกันเราอยู่ ฟ้องหมู่ เรียก ‘Class Action’

โดย สิริพร สงบธรรม จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย
SS Article Banner_1200x660 - Class Action
Highlight

การฟ้องคดีแบบกลุ่ม ยังไม่เกิดขึ้นจริงจังในตลาดทุนไทย เพราะมีอุปสรรคที่พอจะประมวลกันได้ว่า เกิดจากการรวมตัวกันของนักลงทุนที่เสียหาย รวมกลุ่มกันไม่ติด หลายคน อาจทดท้อใจ นี่เป็นเวรกรรม มาแต่ชาติปางใด จึงต้องมาชดใช้หนี้ในชาตินี้ สู้ไปก็ไม่มีทางชนะ สู้ไปก็ต้องใช้เงินอีก ทั้งที่ก็เสียหายยับเยินอยู่แล้ว แต่เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ขอยุแสดงพลังที่นักลงทุนต้อง “กำราบ” คนโกง อย่าให้มีที่ยืน จับมือรวมตัวกันไว้มั่นๆ เชื่อว่า จะมีอีกหลายหน่วยงานเข้ามาหนุนเสริม

“ข่าวใหญ่-ข่าวดัง” ที่ยังไม่จาง สร้างความเสียหาย ร้าวรานใจ สุดซอยที่จะอธิบาย ด้วยตรรกะของการลงทุน แบบปัจจัยพื้นฐาน ที่ดูว่าจะมีความเสี่ยงต่ำ มีสถาบันเข้าลงทุน

“ความเสี่ยง” อยู่คู่กับการลงทุนทุกโมงยาม ทั้งที่จับวางได้ และวิ่งเข้ามาปะทะแบบไม่รู้ตัว จนอาจ ”หมดตัว” ได้

ชีวิตที่ต้องเดินต่อไป เมื่อเผชิญกับความเสี่ยง นักลงทุนเลือกได้ที่จะนั่งจมทุกข์อยู่เพียงลำพังแบบเดียวดาย หรือลุกขึ้นทวงสิทธิ เรียกความ”ยุติธรรม” ให้ตัวเอง

อย่าลืม “สิทธิของผู้ถือหุ้น” ด้าน สิทธิในการร้องเรียนและฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายและผลประโยชน์คืนให้กับบริษัท หากกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัททำหน้าที่ไม่เหมาะสม เช่น ขาดความระมัดระวัง หรือ ไม่ซื่อสัตย์สุจริตจนส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหาย หากพบเบาะแสการกระทำผิดหรือปัญหาอื่นใดเกี่ยวกับการลงทุนธุรกิจหลักทรัพย์ หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

การลงทุนในหลักทรัพย์ เมื่อเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง นักลงทุนมากรายที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน จึงสามารถรวมตัวกัน เพื่อเป็นโจทก์ ฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ หรือเรียกกันเป็นศัพท์ที่เริ่มคุ้นหูกันว่า Class  Action  

แปลความเข้าใจง่ายๆ ว่า มีโจทก์หลายคน ที่กะว่าจะฟ้องเรียกค่าเสียหาย ดังนั้น มารวมกลุ่มกันฟ้อง จึงเรียกว่า การฟ้องคดีแบบกลุ่ม-Class Action

ปัจจัยแห่งการเดินทางไปสู่การฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ คือ

1 การรวมตัวของกลุ่มนักลงทุน-ผู้เสียหาย ยิ่งเข้มแข็ง ยิ่งเป็นการดี ไม่ท้อ ที่จะเรียกคืนความยุติธรรม แม้จะกำลังใจถดถอย แต่ต้องแข็งใจลุกขึ้นสู้ เพื่อแสดงความเข้มแข็ง รู้ทันคน

2 ทนายมือพระกาฬที่จะช่วยชงเรื่องยกร่างคำฟ้องแบบใช้หมัดน็อค

เมื่อ “ศาล” อนุญาตให้เป็นคดีแบบกลุ่ม เรื่องก็จะเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นลำดับไป

การฟ้องคดีแบบกลุ่ม ยังไม่เกิดขึ้นจริงจังในตลาดทุนไทย เพราะมีอุปสรรคที่พอจะประมวลกันได้ว่า เกิดจากการรวมตัวกันของนักลงทุน-ที่เสียหาย รวมกลุ่มกันไม่ติด หลายคน อาจทดท้อใจ นี่เป็นเวรกรรม มาแต่ชาติปางใด จึงต้องมาชดใช้หนี้ในชาตินี้ สู้ไปก็ไม่มีทางชนะ สู้ไปก็ต้องใช้เงินอีก ทั้งที่ก็เสียหายยับเยินอยู่แล้ว

เสียเวลา เสียเงิน จ้างทนาย และไม่รู้จะจบลงเมื่อใด

ผลที่ตามมา คือ คนโกง “ย่ามใจ” และ ใช้ “กลโกง” แนบเนียน  กินคำใหญ่ กลับโจทย์คิด ย้อนศรทำงาน ตีความ ตีโจทย์ คำว่า “หุ้นดี” มีอะไรเป็นองค์ประกอบที่จะปรุงให้หุ้นดูดี และเป็นหุ้นดี

อาทิ การมีเรื่องราวใหม่ๆ ที่เป็นการหว่านความหวังแห่งการลงทุนของผู้ลงทุน, การขึ้นชั้นหุ้นชั้นดีของ SET 50/SET100 ที่อยู่ตามเกณฑ์ ที่กองทุนจะต้องมีไว้ในพอร์ท, การมีธรรมาภิบาลระดับ 5ดาว, การมีเรทติ้งของหุ้นกู้ระดับ B ขึ้นไป และอื่นๆ ที่ตอบทุกโจทย์ของการเป็น “หุ้นดี”

แต่เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ขอยุแสดงพลังที่นักลงทุนต้อง “กำราบ” คนโกง อย่าให้มีที่ยืน จับมือรวมตัวกันไว้มั่นๆ เชื่อว่า จะมีอีกหลายหน่วยงานเข้ามาหนุนเสริม

อนึ่งก่อนจะถึงการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มซึ่งเกิดความเสียหายไปแล้ว หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล สอบทาน ควรไหวตัวให้ทัน และทำงานเชิงรุก กับโลกใบเดิมที่ไม่เหมือนเดิม ตามที่เราเจอและพูดกับบ่อย ถี่ขึ้น

ตลาดทุนเป็นฟันเฟือง ตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควร “เรียกขวัญ” และกอบกู้ภาพพจน์ให้คืนกลับมาโดยพลัน

รวมกันเราอยู่ ฟ้องหมู่ เรียก Class Action……

ข้อมูลเพิ่มเติม กระบวนการฟ้องคดีแบบกลุ่ม : www.sec.or.th


สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลผู้เสียหายจากการลงทุนในหุ้น STARK
โดยได้จัดทำแบบฟอร์มลงทะเบียนสำหรับผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากหุ้น STARK
ไว้บนเว็บไซต์ www.thaiinvestors.com และ Facebook@TIA.Society ถึง 25 มิถุนายนนี้
และจะพิจารณาดำเนินการร่วมกันในลำดับต่อไป

TIA_STARK


บทความที่เกี่ยวข้อง