โครงการ Bootcamp ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตอบโจทย์ครู-ถูกใจเด็ก
คุณรัตนชาติ สาระโป เป็นครูโรงเรียนบ้านแม่งอนขี้เหล็ก อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เคยเข้าโครงการ “INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp" ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นครูกระบวนกรสอนการเงินการลงทุน ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนให้ครูระดับมัธยมศึกษานำโมเดลการเรียนรู้และพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ถ่ายทอดให้นักเรียนในรูปแบบ Active Learning โดยคาดหวังให้เกิดหลักสูตรด้านการเงินการลงทุนที่เหมาะกับบริบทแต่ละโรงเรียน
โครงการ “INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp" ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้เป็นการให้ข้อมูล แต่เป็นเกมกิจกรรมที่ตอบสนองความเป็นครูอย่างมาก สร้างแรงบันดาลให้ไปต่อยอดในการถ่ายทอดให้เด็กนักเรียน รวมทั้งสร้างทัศนคติที่ดีเรื่องการเงินให้ตัวเองด้วย ตอนนี้ตนเองมีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ทำให้เห็นภาพรวมเงินเข้าเงินออก แล้วปรับการใช้จ่าย จึงอยากให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ กระจายองค์ความรู้เหล่านี้ไปให้ครูในภูมิภาค ซึ่งถ้าจะให้ยั่งยืน ต้องเริ่มจากการอบรมเพื่อสร้าง mindset เรื่องการเงินการลงทุนก่อน ไม่อย่างนั้น ครูจะกลับไปเหมือนเดิม รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายครูกระบวนกรการเงินในภูมิภาค เพื่อให้ครูกระบวนกรได้มามาพูดคุยแลกเปลี่ยนการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมให้กับเด็ก
“การฝึกครูเป็นกระบวนกรนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ฝึกการจัดการเรียนรู้จริง ๆ เป็นการออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เรียนรู้เกี่ยวกับการเงิน มีเงินเดือนให้เด็กนักเรียน แล้วให้เด็กบริหารจัดการเพื่อให้รอดในหนึ่งเดือน โดยมีสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มาดึงเงินออกจากกระเป๋า แล้วนักเรียนจะรอดพ้นการดึงเงินจากกระเป๋าอย่างไร จะมีวิธีเก็บเงินอย่างไรให้เหลือมากที่สุดในหนึ่งเดือน มีการใส่เรื่องภาษี ว่าทำไมต้องเสียภาษี เป็นคอนเซ็ปต์เล็ก ๆ ในเกม แต่ว่ามันตอบโจทย์นักเรียน และตอบโจทย์ผู้สอนด้วย”
โครงการ “INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp" เป็นทั้ง 1. ให้ความรู้ 2. ปรับพฤติกรรมการเงินของตัวเอง และ 3. สร้างทัศนคติเรื่องการเงินที่เข้าใจและสามารถบริหารเงินไปสู่ทางที่ดีขึ้น มีความสุข ไม่เครียด ที่สำคัญในมุมของครูคือนำไปปรับการเรียนการสอนในห้องเรียนได้จริง เด็กเข้าถึงเรื่องการเงินได้ด้วยกิจกรรม นับว่าตอบโจทย์ครูยุคนี้มาก
โดยตอนแรกมีความกังวล ว่าเด็กจะสนใจเรื่องการเงินหรือเปล่า จะเข้าถึงหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่สอนเด็กชาติพันธุ์ เด็กพื้นเมือง เวลาสอนเด็กจึงพยายามปรับเป็นการพูดเล่าในห้องเรียน เช่น แม่หนูซื้อมอเตอร์ไซค์ใหม่ ราคา 28,000 บาท ผ่อนเดือนละ 1,800 บาท เป็นเวลา 4 ปี ก็รู้แล้วว่าจะเชื่อมโยงอย่างไร ก็ให้เขาคำนวณว่า ถ้าผ่อนอย่างที่บอกต้องจ่ายเงินรวม 48,000 บาท เขาก็ว้าวตกใจ หนูไม่รู้มาก่อนเลย ก็สอนต่อไปว่าถ้าหนูโตมีลูกแล้วจะซื้อมอเตอร์ไซค์ ก็ให้เก็บเงินเดือนละ 1,800 บาท ตั้งแต่ลูกอยู่ ม. 2 แล้วอีก 2 ปีค่อยซื้อ จะลดดอกเบี้ยลงมาได้ นี่คือการวางแผน
ในมุมมองส่วนตัว ทุกคนควรสนใจเรื่องการเงิน เพราะปัญหาสังคมหลายปัญหาเกิดจากความยากจน ประเทศไทยมีหนี้เยอะมากและส่งผลต่อทุกอย่าง ทางเดียวที่จะแก้ได้คือการจัดการการเงินที่ถูกต้อง ใครที่คิดว่าเรื่องนี้ไกลตัว ฉันยังไม่เป็นหนี้ ยังไม่เกษียณเลย ที่ผ่อนอยู่เพราะมีเครดิตดี ผ่อนได้กู้ได้ ซึ่งถ้ามองว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่ปัญหา นั่นแหละคือปัญหา เพราะเราใช้เงินทุกวัน แต่ไม่รู้ว่าเงินที่ใช้สร้างปัญหา หรือใช้เงินถูกต้องหรือไม่ จึงอยากจะฝากว่า การใช้เงินได้ถูกต้อง ต้องมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องก่อน ใครที่ยังไม่สนใจเรื่องการวางแผนการเงิน ควรเปิดใจลองดู
บทความที่เกี่ยวข้อง