ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับการปรับตัวและพัฒนาในยุค Digital Transformation
การเริ่มต้นทำงานด้วยการเป็นนักวาณิชธนกิจ (Investment Banking) ประมาณปี 2536 ใกล้เคียงการจัดตั้ง ก.ล.ต. จากนั้นได้รับหน้าที่เป็นประธานชมรมวาณิชธนกิจ บทบาทสำคัญของประธาน คือการประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อนำความเห็นของสมาชิกหรืออุปสรรคการทำงานไปแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานกำกับ เช่น ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งแสดงความเห็นเมื่อจะมีการออกเกณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งต้องพยายามทำความเข้าใจเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ออกมามีผลอะไรต่อสมาชิก
อย่างกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่นำไปสู่การเข้มงวดกฎเกณฑ์ backdoor listing มากขึ้น แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงตลาดทุน แต่ในมุมมองของหน่วยงานกำกับดูแล การปรับปรุงกฎเกณฑ์นี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของตลาดทุน บทบาทของประธานชมรมฯ จึงเป็นการสร้างความเข้าใจและประสานงานให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีพัฒนาการที่ดีมาตลอด มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 800 กว่าบริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ใหญ่มาก สภาพคล่องในการซื้อขายสูง การระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นครั้งแรก หรือ IPO สูงสุดในอาเซียน ทั้งหมดนี้มาจากการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีพัฒนาการ มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น ระบบชำระราคาที่เป็นมาตรฐานสากล ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจกับนักลงทุน
ในยุคของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการดำเนินการที่สำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้ง บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด (TDX) แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงินในอนาคต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Infrastructure) เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัล การพัฒนาระบบ Digital IPO โดยเริ่มจากการลดการใช้กระดาษและมีแผนพัฒนาต่อยอดไปสู่ระบบ Machine Readable และการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการออกหุ้น IPO ในอนาคต และการเตรียมพร้อมสำหรับนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เช่น Digital Bond ที่สามารถจองผ่านแอปพลิเคชันและใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการบริหารจัดการ ลดขั้นตอนการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
การปรับตัวเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เพียงแต่ติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล แต่ยังมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยให้ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมรับมือกับความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ในยุคดิจิทัล
ขณะเดียวกัน โลกปัจจุบันแคบลง เล็กลง การไหลเข้าออกของเงินง่ายมาก นักลงทุนลงทุนที่ไหนก็ได้ สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเฝ้ามองคือ การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ภาษามวยเรียกว่า “ยกนี้ห้ามกระพริบตา” ผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาต้องส่งเสริมธุรกิจเป้าหมายที่เป็น new economy เป็นการเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนมามองตลาดหลักทรัพย์ของไทย
“ปัจจุบันต่างประเทศมองไทยเป็นหุ้นไทยแลนด์ แม้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีหุ้นจดทะเบียน 1,000 ตัว แต่ในสายตานักลงทุนอาจจะไม่มีหุ้นที่มีศักยภาพในแง่ new economy ของโลกยุคใหม่ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการส่งเสริมอย่างบูรณาการ ต้องเริ่มต้นจากภาครัฐ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีการพัฒนาในเรื่องนี้อยู่”
บทความที่เกี่ยวข้อง