เสน่ห์ของตลาดหลักทรัพย์ไทย… การมีนักลงทุนบุคคลที่หลากหลาย
ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยมีพัฒนาการอย่างมาก โดยมีตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการซื้อขายอย่างเป็นธรรม มีความเท่าเทียม มีตลาดรองซื้อขายที่มั่นคง บริษัทจดทะเบียนสามารถมาใช้ประโยชน์จากการระดมทุนได้ มีนักลงทุนที่หลากหลาย ทั้งนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย ส่งผลให้ตลาดทุนไทยเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ
บริษัทหลักทรัพย์ มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย เพราะเป็น stakeholder ที่สำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นตัวกลางที่เชื่อมต่อนักลงทุนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ พานักลงทุนเข้ามาลงทุน ทำให้เกิดการซื้อขายหลักทรัพย์ มีระบบการชำระราคาที่ถูกต้อง
สิ่งที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย พยายามสร้างในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมา คือ การสร้างนักลงทุนบุคคลรุ่นใหม่ให้สนใจลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น ในอดีตนักลงทุนส่วนใหญ่คือนักธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จในชีวิต อายุ 40-50 ปี มีเงินเก็บ แบ่งส่วนหนึ่งลงทุนในหลักทรัพย์ ปัจจุบันมีนักลงทุนรุ่นใหม่มีความรู้ อายุน้อยเข้ามามากขึ้น เป็นการลงทุนระยะยาว ผ่านการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของของบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพ มีเงินปันผลตอบแทน ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนใหม่เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นตลาดในการออมเงินออมทุน เป็นอีกมิติหนึ่งที่สามารถทำได้
ถ้าถามว่าจุดเด่นของตลาดทุนไทยคือความหลากหลายของนักลงทุน มีไม่กี่ตลาดในโลกที่มีนักลงทุนบุคคลเป็นผู้ร่วมตลาดที่สำคัญ เพราะตลาดที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน ที่มีบทบาทในการซื้อขายเป็นหลัก“แต่ผมคิดว่านักลงทุนบุคคลเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของตลาดหุ้นไทย ซึ่งในเอเชียมี 2-3 ตลาดที่คล้าย ๆ อย่างนี้ มีนักลงทุนบุคคลเป็นจุดที่ทำให้มีความหลากหลายของการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะว่าการซื้อขายจะเกิดจากความคิดที่แตกต่าง คนหนึ่งอยากซื้อคนหนึ่งอยากขาย เมื่อเรามีนักลงทุนบุคคลที่มีความหลากหลาย มันก็เลยทำให้ตลาดมีสภาพคล่องที่ดี มีการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง แต่ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาก็เปลี่ยนแปลงไป มีนักลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามามาก”
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น Derivative Warrant (DR) เป็นเครื่องมือในการซื้อขายให้นักลงทุน ลงทุนได้ด้วยจำนวนเงินที่ไม่มาก และ DR ยังเป็นทางเลือกให้สามารถลงทุนในต่างประเทศได้ผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย โดยนักลงทุนไม่ต้องนำเงินจำนวนมากไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ เป็นทิศทางที่น่าจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยมีทางเลือกได้มากขึ้น
ในวันที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนามา 50 ปี เป็นอีกจุดเปลี่ยนหนึ่งของตลาดทุน ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้ามาก เช่น Artificial Intelligence (AI) หรือ Machine Learning ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้เพื่อรองรับการซื้อขายที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งรองรับการซื้อขายรูปแบบใหม่ เช่น โปรแกรมเทรดดิ้ง ตลอดจนใช้ในการตรวจสอบ วิเคราะห์ความผิดปกติในการซื้อขาย หรือ surveillance วิเคราะห์ความผิดปกติของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้สามารถเข้าใจตลาดได้ดีขึ้น
ในขณะเดียวกันความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ กับบริษัทหลักทรัพย์มีอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญกับผู้ร่วมตลาดให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยบริษัทหลักทรัพย์เป็นตัวเชื่อมสำคัญไปสู่นักลงทุน การให้การสนับสนุนทั้งด้านพัฒนาบุคลากรของบริษัทหลักทรัพย์ ผ่านการให้ความรู้ในหลากหลายช่องทาง สร้างเนื้อหาความรู้ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของนักลงทุนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในตลาดหลักทรัพย์ได้ดียิ่งขึ้น
ส่วนบทบาทของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ได้มีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องผ่านการประชุมประจำเดือน การหารือในประเด็นสำคัญ ๆ รวมทั้งการมีคณะทำงานร่วม เช่น คณะทำงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก่อนที่จะเสนอ ก.ล.ต. ให้พิจารณาออกกฎเกณฑ์ได้อย่างเหมาะสม ความร่วมมือในลักษณะนี้จะสามารถทำให้เพิ่มผลิตภัณฑ์ให้ตรงใจกับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับ ESG (Environment, Social, Governance) โดยส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น ดังนั้น บริษัทจดทะเบียนเอง ก็สามารถพัฒนาให้เป็นบริษัทที่มีความยั่งยืนมากขึ้นด้วยการนำหลัก ESG ที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และ การกำกับดูแลกิจการที่ดี มาใช้ในการบริหารบริษัท
ส่วนความท้าทายของตลาดทุนไทย มีทั้งปัจจัยทั้งภายในและภายนอก เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้ความสนใจในตลาดทุนไทยน้อยลง ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่อาจมีผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน รวมไปถึงการนำเสนอข้อมูลการลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียที่หลากหลายที่อาจมีผลต่ออารมณ์ และความรู้สึกของผู้ลงทุนในการลงทุนแต่ละช่วง แต่การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน การกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนและบริษัทสมาชิกที่ดี ให้คำปรึกษา คำแนะนำกับนักลงทุนอย่างถูกต้อง ก็สามารถรับมือกับความท้าทายนั้นได้ และทำให้ตลาดทุนไทยมีความน่าสนใจที่จะลงทุนต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง