งดออกเสียง: ตีความอย่างไร ?

โดย สิริพร สงบธรรม จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย
Banner-set-source-Abstain from Voting_1200x660

ความชัดเจนของการประชุม คือ “เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย” ชัดเจนในตัวเอง แต่หากเป็นการ งดออกเสียง” จะโยกไปข้างใด หรือจะนับคะแนนเสียงอย่างไรกัน

การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เรามักจะเห็นคะแนนที่ผู้ถือหุ้นลงมติปรากฏบนจอแสดงภาพ ฉายโชว์ในห้องประชุม หรือหน้าจอ ให้ผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมเห็นกันโดยทั่วกัน

เรามักจะมีคำถามกันว่า ในช่อง งดออกเสียงควรจะมีการนับคะแนนอย่างไร ?

พบว่า มีการตีความการลงมติ เมื่อเกิดเหตุว่ามีการ งดออกเสียง” หรือ “บัตรเสีย” ที่แตกต่างกันของแต่ละบริษัทจดทะเบียน จึงเป็นลักลั่นของการนับคะแนนที่ยังขาดบรรทัดฐานที่สร้างความคลางแคลงใจให้ผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะบางบริษัทที่มีประเด็นการช่วงชิงอำนาจการบริหารของกลุ่มผู้ถือหุ้น หรือบางวาระที่มีความสำคัญต่อความเป็น-ความตายของบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ

เรื่องนี้ จึงมีการนำเสนอว่า หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน คือ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ควรออกเกณฑ์แนวปฏิบัติเกี่ยวกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์การนับฐานเสียงในการลงมติเรื่องการ “งดออกเสียง” เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุม

มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย-TDRI  มีการศึกษาตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่องการนับคะแนน “งดออกเสียง”

พบว่าแต่ละบริษัทจะต้องมีการชี้แจงการลงมติให้กับผู้ถือหุ้นทราบทุกครั้งว่า  “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” หรือ “งดออกเสียง” หมายถึงอะไร และการนับคะแนนอย่างไรในทุกครั้งที่จะมีการลงมติ

การไม่นับคะแนน “งดออกเสียง” จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ลงคะแนนเสียงนั้นๆ มีส่วนได้เสียกับมตินั้น จึงไม่ควรนับรวมผลเพราะเกี่ยวโยงกับประโยชน์ส่วนตน ซึ่งชัดเจนในเกณฑ์เป็นที่แจ่มชัด ไม่มีข้อคัดค้าน เห็นต่าง เมื่อนับคะแนนเสียงของมตินั้นๆ

การนับทุกคะแนนเสียง จึงเป็นความสบายใจของผู้ถือหุ้น ปะหนึ่งเสมือนการเลือกตั้ง สส. ที่ต้องมีคะแนนชัดเจน “หัวคะแนน” ของแต่ละค่าย จะมาคอยจ้องมองทุกจุด พร้อมประท้วง คัดค้าน ให้พวกเขาเลือกตัวแทนไปทำหน้าที่ในสภาฯ อย่างภาคภูมิใจในทุกคะแนนเสียงที่หย่อนบัตร

ดังนั้น เพื่อความสง่างาม โปร่งใส ชัดเจนกับทุกคะแนนเสียงที่ผู้ถือหุ้นได้ลงมติ บริษัทจดทะเบียนทุกแห่ง ควรมีการชี้แจง การนับคะแนนเสียงให้ผู้ถือหุ้นทราบก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง แม้จะยังต้องรอแนวปฏิบัติก็ตาม 

หมายเหตุ : อ้างอิงงานวิจัยจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย-TDRI  



บทความที่เกี่ยวข้อง