พิธานายกหรือไม่ ลงทุนยังไงดี

โดย สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน
SS Article Banner_1200x660 - Thai election
Highlight
  • การที่ดัชนีหุ้นไทยตกลงมาที่ 1,500 จุด น่าจะเป็นโอกาสของการเลือกซื้อลงทุน เพื่อรอการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3 นี้ จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย และจากความเชื่อมั่นเมื่อการตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยมีนโยบายสำคัญๆ ที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตขึ้นอีกครั้ง

  • ผู้ลงทุนควรติดตามอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากบทวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานของนักวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด และติดตามว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองการตั้งรัฐบาล จะพลิกผันไปจากคาดการณ์หรือไม่ด้วย

ผลการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 กลุ่มพรรคฝ่ายค้านเดิมได้คะแนนรวมกัน 309 เสียง นำโดยพรรคก้าวไกล 152 เสียง เป็นอันดับหนึ่ง และพรรคเพื่อไทย 141 เสียง ตามติดมาเป็นอันดับสอง เมื่อรวมกับพรรคร่วมอื่นๆ เพื่อเสนอตัวนายก ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับ ได้ยอด 313 เสียง ซึ่งถือว่าสูงมาก 

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้การโหวตเลือกนายกฯ ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรรวมกับวุฒิสภาที่มีอีก 250 เสียง รวมกันเป็น 750 เสียง จึงต้องการเสียงรวมกันถึง 376 เสียง กลายเป็นขาดเสียงอีก 63 เสียง

ทางด้าน ส.ว. นั้น ขณะที่ผมเขียนอยู่ มีผู้แสดงท่าทีจะโหวตให้ประมาณ 19 เสียง แต่ก็มีผู้ที่จะไม่ออกเสียงซึ่งมีผลเท่ากับไม่โหวตให้อยู่จำนวนหนึ่ง ขณะที่ 200 กว่าเสียงไม่ได้ส่งสัญญาณใดออกมา ทำให้ผู้ลงทุนยังต้องลุ้นต่อไปว่า พรรคก้าวไกลจะเสนอให้คุณพิธาเป็นนายกฯ ได้สำเร็จหรือไม่ แล้วถ้าไม่สำเร็จ ใครหรือฝ่ายใดจะได้รวมเสียงมาเป็นนายกฯ กันแน่ ที่สำคัญคือ บรรดานโยบายเศรษฐกิจและนโยบายอื่นที่เรื่องสำคัญจะมาจากพรรคใด ในส่วนผสมนโยบายแบบไหน  

นอกจากประเด็นข้างต้น ยังมีเรื่องค้างของการร้องว่าคุณพิธาถือหุ้นสื่อหรือไม่ รวมถึงการรอ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ทราบว่าจะมีเสียงที่ถูกแขวนรอไว้เท่าใด 

เรื่องทั้งหมดนี้ ดูเหมือนต้องใช้เวลายาวนานหลายเดือน กว่าจะได้ความชัวร์ทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้หุ้นไทยหลังเลือกตั้งต้องไหลลงไปต่ำกว่า 1,500 จุด ซึ่งผิดคาดไปจากสถิติในอดีต ที่หุ้นมักจะขึ้นได้หลังจากเลือกตั้งจบ

ผมเห็นด้วยกับผู้ลงทุนในภาพที่ว่า การรวมเสียงเสนอคุณพิธาเป็นนายก จะยังมีความยากอีกหลายด่าน ด้วยเงื่อนไขและอุดมการณ์ ตลอดจนความเชื่อส่วนตัว ของพรรคการเมือง ของ ส.ว. และกลุ่มประชาชนฐานเสียง ที่ตรงกันบ้าง ต่างกันบ้าง  

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังมีความไม่ค่อยแน่นอน แต่ขอบเขตการได้ตัวนายกรัฐมนตรีนั้น  น่าจะจำกัดวงอยู่ที่ 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคก้าวไกล หรือถ้าพลาดไป ก็น่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย และทั้งหมดนี้ไม่นานเกินรอ คือราวต้นสิงหาคม โอกาสที่จะพลิกไปจาก 2 พรรคนี้น่าจะมีน้อย  

หากจากนี้ไปมี ส.ว. หรือพรรคการเมืองอื่นๆ ทยอยกันเปิดใจยอมโหวตให้เพิ่มขึ้น หรือจะสลับพรรคเพื่อไทยขึ้นมานำ รวมเสียงจนมีแนวโน้มว่าจะไปถึง 376 เสียงได้ การ Rebound ของหุ้นก็น่าจะเริ่มต้นโดยไม่ต้องรอไปจนครบ 376 จริงด้วยซ้ำไปครับ

นอกเหนือจากปัจจัยทางการเมืองแล้ว ผมคิดว่าปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้า ก็ดำเนินไปในแนวทางที่ดีขึ้นตามกาลเวลา ทั้งการลดลงของภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมัน (อีกทั้งรัฐบาลใหม่คงจะดำเนินการจัดแจงให้ค่าไฟฟ้าลดลงตามที่หาเสียงไว้) การที่อัตราดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว โดยน่าจะขึ้นอีกครั้งเดียว จึงไม่เป็นผลลบกับหุ้นมากนัก แต่เป็นการรอวงจรผลบวกจากการที่ดอกเบี้ยโลกจะลดลงในช่วงปลายปี นอกจากนั้นเศรษฐกิจไทยก็กำลังฟื้นตัว โดยมีแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น จนยอดรายเดือนเข้าใกล้ยุคก่อนโควิด    

ส่วนกรณีความกังวลเรื่องที่สหรัฐฯ กำลังติดปัญหาเพดานหนี้นั้น ในที่สุดแล้ว ก็คงมีการแก้ไขขยายเพดานจากปัจจุบันที่ระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ได้สำเร็จในเร็วๆ นี้ 

ดังนั้น ผมมองว่า การที่ดัชนีหุ้นไทยตกลงมาที่ 1,500 จุด น่าจะเป็นโอกาสของการเลือกซื้อลงทุน เพื่อรอการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3 นี้ จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย และจากความเชื่อมั่นเมื่อการตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยมีนโยบายสำคัญๆ ที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตขึ้นอีกครั้ง 

และหากเรายังไม่แน่ใจว่า นายกใหม่จะมาจากก้าวไกลหรือเพื่อไทย ผมชวนให้คุณผู้อ่านลองหยิบนโยบายช่วงหาเสียงของ 2 พรรคนี้มากางเทียบกัน จะพบว่ามีหลายนโยบายหลักที่คล้ายคลึงกัน ต่างกันแค่รายละเอียด ซึ่งน่าจะทำให้ เรามีความหวังที่จะเห็นระบบเศรษฐกิจไทยแข็งแรงขึ้นอย่างชัดเจน เช่น 

  • ทั้ง 2 พรรคแกนนำ มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน โดยการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือนปริญญาตรี ตลอดจนลดภาระรายจ่ายค่าไฟฟ้า ซึ่งทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อบริโภคเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อหุ้นผู้ประกอบธุรกิจในประเทศส่วนใหญ่ ยกเว้นหุ้นบริษัทที่มีโครงสร้างต้นทุนแรงงานสูง 
  • แนวคิดที่ส่งผลให้การบริหารงบประมาณมีประสิทธิภาพขึ้น เช่น การยกรายรับที่อยู่ใต้ดินของเจ้าหน้าที่รัฐและให้มีคาสิโนถูกกฎหมาย ขึ้นมาเป็นรายรับภาษี การมุ่งหยุดส่วยรีดไถ ลดการเกณฑ์ทหารมากเกินความจำเป็น ลดการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธ สินค้า และบริการต่างๆ ให้เหมาะสมขึ้น ฯลฯ รายรับที่เพิ่มขึ้นพร้อมรายจ่ายที่ลดลงนี้ สุดท้ายจะทำให้รัฐสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ดีขึ้น  
  • การลดค่าไฟฟ้าทันที และแนวโน้มเข้าปรับปรุงการประมูลการผลิตไฟฟ้าใหม่ๆ ในอนาคต จะช่วยให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีรายจ่ายลดลง ส่งผลดีกับหุ้นเกือบทุกกลุ่ม ยกเว้นกลุ่มผู้ประมูลผลิตและขายไฟฟ้า 
  • นโยบายลดการผูกขาด กรณีนี้หุ้นหลายบริษัทโดนผลกระทบทางลบ เช่น บริษัทสื่อสารที่กำลังลดเหลือเพียง 2 ราย ผู้ผลิตเหล้าเบียร์ ผู้ประมูลผลิตไฟฟ้าซึ่งต่อไปนี้อาจถูกจับตากันเขม็ง แม้จะไม่สามารถไปแก้ไขสัญญาเดิม แต่กรณีประมูลไฟฟ้าใหม่ นอกจากจะยากเพราะมีกำลังผลิตส่วนเกินมากแล้ว หากมีการประมูลใหม่ ก็น่าจะได้ผลตอบแทนที่ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ  ผมคิดว่าผู้ลงทุนยังต้องระมัดระวังการลงทุนและควรดูบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานให้ลึกซึ้งครับ
  • ในอีกด้านหนึ่ง การทลายการผูกขาดเดิม ก็เป็นการเปิดโอกาสให้กับ SME หรืออาจรวมถึงบริษัทอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เป็นได้ เช่น ธุรกิจสุรารสชาติใหม่ๆ กลุ่มผู้ประมูลขายไฟฟ้าใหม่ๆ หรือแม้แต่ผู้ประกอบธุรกิจสื่อสารเพิ่มการแข่งขัน ก็อาจเป็นได้ แต่เราคงต้องหูตาไวในการติดตามข้อมูลการเตรียมตัวของบริษัทต่างๆ ให้ทันต้นขบวน เรื่องนี้ แนะนำให้ตามอ่านบทวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานของนักวิเคราะห์ที่มีการไปสัมภาษณ์ติดตามการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆ กันเป็นประจำครับ
  • การส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้ง 2 พรรคพูดนโยบายเรื่องนี้ไว้ ต่างกันในรายละเอียด แต่ผลลัพธ์ที่จะเกิด ดีกับหุ้นภาคท่องเที่ยวด้วยกัน ทั้งโรงแรม สนามบิน สายการบิน ค้าปลีก และอาจรวมถึงหุ้นโรงพยาบาลด้วยสำหรับนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ระบุถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่โรงพยาบาลสามารถเข้าร่วมมือทำกับโรงแรม

เมื่อดูจากปัจจัยที่กล่าวทั้งหมดข้างต้น ผมมองว่า ที่หุ้นตกลงมาใกล้ 1,500 จุดแบบนี้ ระดับ PE ของตลาดฯ เมื่อเทียบกับประมาณการกำไรปี 2566 เฉลี่ยได้ PE ประมาณ 15.5 เท่า น่าจะเป็นโอกาสการเลือกลงทุนหมวดธุรกิจที่น่าจะได้ผลบวกจากนโยบายของรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกล และหรือพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ได้แก่ กลุ่มธนาคาร  Finance  ค้าปลีกและศูนย์การค้า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม  โรงแรม  สนามบิน  โรงพยาบาล

แต่กลุ่มที่ต้องระมัดระวัง ได้แก่ ธุรกิจสื่อสาร โรงไฟฟ้าและพลังงาน รับเหมาก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย บริษัทที่เน้นการประมูลงานภาครัฐ ธุรกิจแฟชั่น (สิ่งทอ) เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ ผู้ลงทุนควรติดตามอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากบทวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานของนักวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด และติดตามว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองการตั้งรัฐบาล จะพลิกผันไปจากคาดการณ์หรือไม่ด้วยนะครับ 

ท้ายนี้แนะนำช่องทาง IAA Consensus เพื่ออ่านบทวิเคราะห์ที่สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯรวบรวมไว้กว่า 300 หุ้น ตาม Link นี้  https://www.settrade.com/th/research/iaa-consensus/main 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: SET SOURCE เลือกตั้ง หุ้นไทย


บทความที่เกี่ยวข้อง