English
เกี่ยวกับบริษัท
ข้อมูลเผยแพร่
ข้อมูลที่ผู้ลงทุนในเอ็นวีดีอาร์ควรรู้
ข้อมูลการซื้อขายเอ็นวีดีอาร์
ข่าว
ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
ลิงก์เชื่อมโยง
ถาม-ตอบ
ติดต่อบริษัท
แผนผังเว็บไซต์
ถาม-ตอบ
     
 

1.

ที่มาของ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด คืออะไร

 
 

ตอบ  

เนื่องจากหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะมีข้อจำกัดเรื่องการควบคุมสัดส่วนการถือครองหลักทรัพย์ของคนต่างด้าวที่ระบุไว้ตามกฎหมายไทย (Foreign Limit) ซึ่งหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยประสบปัญหาสภาพคล่องลดลง ซึ่งนักลงทุนต่างชาติบางรายต้องการลงทุนในบริษัทจดทะเบียน แต่ติดข้อจำกัดเรื่อง Foreign Limit ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงหาวิธีการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติ โดยการจัดตั้ง "บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด" ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดหลักทรัพย์ และเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ที่สนใจลงทุนในบริษัทจดทะเบียนแต่อาจไม่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์นั้นได้ อันเนื่องมาจากการควบคุมสัดส่วนการถือครองหลักทรัพย์ของคนต่างด้าวที่ระบุไว้ตามกฎหมายไทย

 
 

 


 
 

2.

ข้อดีของการลงทุนผ่านตราสาร NVDR คืออะไร

 
 

ตอบ  

นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยไม่ติดข้อจำกัดเรื่องการถือครองหลักทรัพย์ของคนต่างด้าว (Foreign Limit) และนักลงทุนยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงินต่างๆ (Financial Benefits) เสมือนการลงทุนในหุ้น แต่จะไม่มีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมของบริษัท (Non-Voting Rights)

 
     
  3. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัดจะยกเลิกการซื้อขายเอ็นวีดีอาร์หรือไม่  
  ตอบ บริษัทไม่ยกเลิกการซื้อขายเอ็นวีดีอาร์ นักลงทุนสามารถสั่งซื้อขายหลักทรัพย์เอ็นวีดีอาร์ได้ตามปกติ แต่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการสั่งซื้อขายเอ็นวีดีอาร์ระหว่างบริษัทสมาชิก (Broker) กับตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ นักลงทุนจะไม่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง นักลงทุนสามารถสั่งให้บริษัทสมาชิก(Broker) ซื้อขายเอ็นวีดีอาร์และได้รับหุ้นเอ็นวีดีอาร์ได้ตามปกติ และบริษัทสมาชิก (Broker) จะทำงานร่วมกับบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการจัดส่งหุ้นเอ็นวีดีอาร์ให้กับนักลงทุน  
     
  4.

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการซื้อขายเอ็นวีดีอาร์

 
  ตอบ

นักลงทุนยังคงสั่งซื้อขายหลักทรัพย์เอ็นวีดีอาร์ตามเหมือนเดิม โดยบริษัทสมาชิก (Broker) จะความสะดวกและทางเลือกมากขึ้นในการส่งคำสั่ง และมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำลงกว่าเดิม

 
     
  5.

ขั้นตอนการเปลี่ยนหุ้น Foreign เป็น NVDR

 
  ตอบ ตามหนังสือชี้ชวนกำหนดเกี่ยวกับขั้นตอนการเปลี่ยนหุ้นกับ NVDR ว่าจะต้องทำผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ โดยหากผู้ลงทุนมีหุ้น Foreign ก็สามารถดำเนินการเปลี่ยนเป็นหุ้น Local และทำบันทึกรายการซื้อขาย Trade Report ในระบบการซื้อขาย เพื่อเปลี่ยนเป็น NVDR ได้ อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุนต่างชาติในหุ้น Foreign จะมีมากกว่าการถือครอง NVDR ในเรื่องของการมีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย  
     
  6.

ขั้นตอนการเปลี่ยน NVDR เป็นหุ้น Foreign

 
  ตอบ

ผู้ลงทุนใน NVDR ที่ต้องการเปลี่ยนเป็นหุ้น Foreignสามารถแจ้งให้สมาชิกผู้ฝาก ดำเนินการผ่านระบบงานรับฝากหลักทรัพย์ได้ โดยหากหลักทรัพย์อ้างอิงมีผู้ลงทุนต่างชาติถือครองยังไม่เต็มตามข้อจำกัดการลงทุนของผู้ลงทุนต่างด้าว สมาชิกผู้ฝากก็สามารถดำเนินการเปลี่ยนเป็นหุ้น Foreign ได้เลย แต่หากหลักทรัพย์อ้างอิงมีผู้ลงทุนต่างชาติถือครองเต็มตามข้อจำกัดการลงทุนของผู้ลงทุนต่างด้าวแล้ว สมาชิกผู้ฝากสามารถนำ NVDR เข้าคิวเพื่อรอการเปลี่ยนเป็นหุ้น Foreign ได้

 
     
  7.

ในการปิดสมุดทะเบียนเพื่อให้สิทธิต่างๆ จะปรากฏชื่อ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัดหรือ ชื่อผู้ถือหุ้นในการรับสิทธิประโยชน์

 
  ตอบ ในการปิดสมุดทะเบียนของหุ้นอ้างอิง จะปรากฏชื่อ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด บนหน้าทะเบียนและเป็นผู้รับสิทธิประโยชน์จากบริษัทจดทะเบียนตามกฎหมาย โดยบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จะกำหนดปิดสมุดทะเบียนของ NVDR ในวันเดียวกับหุ้นอ้างอิง และจะนำสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นผู้ถือหุ้นอ้างอิงมาจัดสรรให้แก่ผู้ถือเอ็นวีดีอาร์ที่มีชื่อปรากฏตามรายชื่อ ณ วันปิดสมุดทะเบียนที่ให้สิทธิ  
     
 

8.

ผู้ลงทุนที่มีความประสงค์ที่จะซื้อหรือขายเอ็นวีดีอาร์ ต้องดำเนินการทำสัญญากับบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จํากัด ก่อนการซื้อหรือขายเอ็นวีดีอาร์ หรือไม่

 
 

ตอบ    

ผู้ลงทุนที่มีความประสงค์ที่จะซื้อหรือขายเอ็นวีดีอาร์ ไม่ต้องทําสัญญาใดกับบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จํากัด สามารถสั่งซื้อหรือขายเอ็นวีดีอาร์ผ่านบริษัทสมาชิก (Broker) ได้ตลอดเวลา โดยให้ระบุในคำสั่งซื้อ หรือคำสั่งขายว่าเป็นการซื้อหรือขายเอ็นวีดีอาร์

 
 

 


 
 

9.

ผู้ลงทุนสามารถซื้อหรือขายเอ็นวีดีอาร์ ในกระดานหลักทรัพย์ใด

 
 

ตอบ  

ผู้ลงทุนสามารถซื้อหรือขายเอ็นวีดีอาร์ได้บนกระดานหลัก (Main Board) โดยราคาที่ซื้อหรือขายเอ็นวีดีอาร์จะเป็นราคาเดียวกับหลักทรัพย์อ้างอิง

 
 

 


 
 

10.

ผู้ลงทุนสามารถแจ้งความประสงค์ไปยังบริษัทสมาชิก (Broker) ให้ดําเนินการเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่ซื้อขายบนกระดานหลัก (Main Board) เป็นเอ็นวีดีอาร์ ได้หรือไม่และมีค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง

 
 

ตอบ  

ได้ โดยการทํารายการซื้อขายแบบ Trade Report ผ่านระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ (ขายหลักทรัพย์ที่ซื้อและซื้อเอ็นวีดีอาร์) โดยผู้ลงทุนจะเสียค่าธรรมเนียมการซื้อขายเอ็นวีดีอาร์เหมือนกับค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ทั่วไป (Commission Fee)

 
 

 


 
 

11.

การซื้อขายเอ็นวีดีอาร์ในกระดานหลัก (Main Board) หรือวิธีซื้อขายแบบ Trade Report จะได้รับเงินหรือเอ็นวีดีอาร์เมื่อใด

 
 

ตอบ  

ผู้ลงทุนจะได้รับเงินหรือเอ็นวีดีอาร์ในวันทำการที่ 2 นับแต่วันที่ซื้อขายเอ็นวีดีอาร์ (T+2) เช่นเดียวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ทั่วไป

 
 

 


 
 

12.

ระยะเวลาที่ใช้ในการเปลี่ยนเอ็นวีดีอาร์เป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายบนกระดานต่างประเทศ (Foreign)

 
 

ตอบ  

การเปลี่ยนเอ็นวีดีอาร์เป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายบนกระดานต่างประเทศ (Foreign)จะดำเนินการผ่านระบบงานของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ หากหลักทรัพย์ที่ต้องการจะขอเปลี่ยนมีอัตราส่วนการถือครองหลักทรัพย์ของผู้ถือหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Foreign limit) เพียงพอ เอ็นวีดีอาร์จะเปลี่ยนสถานะเป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายบนกระดานต่างประเทศ (Foreign) ทันทีหากหลักทรัพย์ที่ต้องการขอเปลี่ยนมี Foreign limit ไม่เพียงพอ จะนำเอ็นวีดีอาร์เข้าคิวเพื่อรอโอน เป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายบนกระดานต่างประเทศ(Foreign) โดยเอ็นวีดีอาร์ที่อยู่ระหว่างเข้าคิวยังคงได้รับการจัดสรรสิทธิประโยชน์ทางการเงินอย่างครบถ้วน

 
 

 


 
 

13.

การปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิรับเงินปันผล (XD) หรือสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (XR) ผู้ลงทุนที่อยู่ระหว่างเข้าคิวเปลี่ยนเอ็นวีดีอาร์เป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายบนกระดานต่างประเทศ (Foreign) จะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวหรือไม่

 
 

ตอบ  

ผู้ลงทุนที่อยู่ระหว่างการนำเอ็นวีดีอาร์เข้าคิวเปลี่ยนเป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายบนกระดานต่างประเทศ (Foreign) ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงินอย่างครบถ้วน ได้เสมือนกับการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียน

 
 

 


 
 

14.

หากพบข้อผิดพลาดในการส่งคำสั่งซื้อขาย NVDR บริษัทสมาชิก (Broker) จะสามารถแก้ไขรายการซื้อขาย NVDR ดังกล่าวได้ หรือไม่ อย่างไร

 
 

ตอบ  

สามารถดำเนินการได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) ในกรณีที่ยังมิได้ชำระราคาและส่งมอบ

     1.1 ผ่านระบบงานของตลาดหลักทรัพย์
แก้ไขข้อมูลโดยระบุวัตถุประสงค์การซื้อขาย NVDR ในคำสั่งซื้อขาย ก่อนปิดการซื้อขายในวันนั้น ภายในเวลา 17.00 น. ของวันที่ซื้อขายหลักทรัพย์ (วันที่ T)

     1.2 ผ่านระบบงานของสำนักหักบัญชี
แก้ไขรายการ NVDR โดยใช้ Function NVDR Adjustment ซึ่งจะต้องอ้างอิงหมายเลขรายการซื้อขาย (Deal Number) เพื่อทำการแก้ไขรายละเอียด ดังนี้

  • แก้ไขรายการซื้อได้ตั้งแต่วันที่ซื้อขายหลักทรัพย์จนถึงวันทำการที่ครบกำหนดชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ภายใน 11.30 น
  • แก้ไขรายการขายได้ตั้งแต่วันที่ซื้อขายหลักทรัพย์จนถึงวันทำการที่ครบกำหนดชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ภายใน 13.15 น.

โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2563 (วันครบกำหนดชำระราคาและส่งมอบ)  เป็นต้นไป


2) ในกรณีที่ชำระราคาและส่งมอบแล้ว

สมาชิกสามารถแก้ไขผ่านระบบงานของสำนักหักบัญชี โดยอ้างอิงหมายเลขรายการซื้อขาย (Deal Number) ย้อนหลังได้ไม่เกิน 3 เดือน แต่หากหลักทรัพย์นั้นมีการปิดสมุดทะเบียนภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา สมาชิกจะทำรายการที่อ้างอิงกับรายการซื้อขายได้หลังวันปิดสมุดทะเบียนแล้วเท่านั้น
 
 

 


 
 

15.

การทํารายการซื้อขายแบบ Trade Report เพื่อการเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่ซื้อขายบนกระดานหลัก (Main Board) เป็น เอ็นวีดีอาร์ มีข้อจํากัด ในเรื่องจํานวนหลักทรัพย์ และราคาที่ทํารายการซื้อขายแบบ Trade Report หรือไม่

 
 

ตอบ  

มีวิธีการตามหลักเกณฑ์การทํารายการซื้อขายแบบ Trade Report ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยสามารถดูรายละเอียดได้ ใน www.set.or.th หัวข้อ ข้อบังคับ และประกาศ เกี่ยวกับการซื้อขาย การชำระราคาและการส่งมอบหลักทรัพย์

 
 

 


 
 

16.

เมื่อผู้ลงทุนมีการสั่งขายเอ็นวีดีอาร์ แต่ทำการส่งมอบเอ็นวีดีอาร์ล่าช้ากว่ากำหนดวันชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Settlement date)จะมีผลเป็นอย่างไร

 
 

ตอบ  

ในวันที่ชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (T+2) เมื่อผู้ลงทุนไม่มีเอ็นวีดีอาร์มาส่งมอบ ระบบงานศูนย์รับฝากหลักทรัพย์จะไปหักหลักทรัพย์อ้างอิงในบัญชีบริษัท (Clearing PORT)ของบริษัทสมาชิก (Broker) แทนในจํานวนเดียวกับเอ็นวีดีอาร์ที่ผิดนัดส่งมอบ

 
 

 


 
 

17.

หากผู้ลงทุนที่ถือครองเอ็นวีดีอาร์ไม่ได้รับสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน สิทธิดังกล่าวจะตกเป็นของใคร

 
 

ตอบ  

สิทธิดังกล่าวจะตกเป็นของบริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จํากัด แต่บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จํากัด จะไม่ใช้สิทธินั้นในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน เว้นแต่กรณีการเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Delist)

 
 

 


 
 

18.

หากหลักทรัพย์อ้างอิงให้สิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (XR) ผู้ถือเอ็นวีดีอาร์จะได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่

 
 

ตอบ  

บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จะให้สิทธิแก่ผู้ถือเอ็นวีดีอาร์ในการซื้อเอ็นวีดีอาร์เพิ่ม โดยสิทธิดังกล่าวจะมีสัดส่วนและราคาตามสิทธิที่ผู้ถือหลักทรัพย์อ้างอิงควรได้รับ

 
 

 


 
 

19.

กรณีที่หลักทรัพย์อ้างอิงให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (XR) ผู้ลงทุนสามารถระบุความประสงค์ในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนเป็นเอ็นวีดีอาร์ ได้หรือไม่

 
 

ตอบ  

ไม่สามารถทําได้เนื่องจากสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน เป็นการให้สิทธิจากการถือครองหุ้นเดิม ดังนั้นหากผู้ลงทุนถือครองหลักทรัพย์อ้างอิง ก็จะได้รับสิทธิในการจองซื้อและได้รับหลักทรัพย์อ้างอิง ผู้ลงทุนถือครองเอ็นวีดีอาร์ จึงจะได้รับสิทธิในการจองซื้อและได้รับหุ้นเพิ่มทุนเป็นเอ็นวีดีอาร์ได้

 
 

 


 
 

20.

การหักภาษี ณ ที่จ่ายของเงินกําไรจากการขายเอ็นวีดีอาร์ของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย

 
 

ตอบ  

ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในไทย จะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายของกำไรจากการขายเอ็นวีดีอาร์ในอัตราร้อยละ 15 โดยนักลงทุนต้องแจ้งต้นทุนแก่บริษัทสมาชิก (Broker) และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย หากประเทศดังกล่าวมีอนุสัญญาภาษีซ้อน (Double Tax Treaty) กับประเทศไทยจะได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าว

 
 

 


 
 

21.

ผู้ลงทุนต้องมีการรายงานการถือครองเอ็นวีดีอาร์ รวมกับหลักทรัพย์อ้างอิงทุกครั้งที่มีสัดส่วนการถือครองที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงทุกร้อยละ 5 ต่อบริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จํากัด ด้วยหรือไม่ หากไม่รายงานจะมีผลอย่างไร

 
 

ตอบ  

ผู้ลงทุนต้องรายงานการได้มาหรือจำหน่ายเอ็นวีดีอาร์ รวมกับหลักทรัพย์อ้างอิง (ถ้ามี) (แบบ 246-2-NVDR) ทุกร้อยละ 5 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของหลักทรัพย์อ้างอิงที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการ ทั้งนี้หากไม่รายงานข้อมูลดังกล่าว บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จะปรับผู้ถือเอ็นวีดีอาร์ในอัตราเดียวกับบทกำหนดโทษที่กำหนดไว้ในกรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรา 246 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 
 

 


 
 

22.

บุคคลใดเป็นผู้มีหน้าที่รายงานการถือครองเอ็นวีดีอาร์ (แบบ 246-2-NVDR) ระหว่างบริษัทสมาชิก (Broker) หรือผู้ลงทุน และเมื่อรายงานข้อมูลมายังบริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด แล้ว จะมีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างไร

 
 

ตอบ  

ผู้ถือเอ็นวีดีอาร์จะต้องเป็นผู้รายงานการได้มาหรือจำหน่ายเอ็นวีดีอาร์รวมกับหลักทรัพย์อ้างอิง (ถ้ามี) ทุกร้อยละ 5 ต่อบริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด และบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณชนผ่าน Website:www.set.or.th/nvdr

 
 

 


 
 

23.

กรณีที่ผู้ลงทุนมีการถือครองหลักทรัพย์อ้างอิงและเอ็นวีดีอาร์ทุกร้อยละ 5 เมื่อมีการรายงานการถือครองเอ็นวีดีอาร์ (แบบ 246-2-NVDR) ไปยังบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด แล้ว จะต้องรายงานการถือครองหลักทรัพย์ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ด้วยหรือไม่

 
 

ตอบ  

กรณีผู้ลงทุนถือครองหลักทรัพย์อ้างอิงและถือครองเอ็นวีดีอาร์ทุกร้อยละ 5จะต้องรายงานการได้มา หรือจำหน่ายเอ็นวีดีอาร์รวมกับหลักทรัพย์อ้างอิง (ถ้ามี) (แบบ 246-2-NVDR)ต่อบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ภายใน 3 วันทำการ ถัดจากวันที่ได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ โดยไม่ต้องรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่กรณีผู้ลงทุนมีการถือครองหลักทรัพย์อ้างอิงโดยไม่นับรวมเอ็นวีดีอาร์ทุกร้อยละ 5 จะต้องรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 
 

 


 
 

24.

บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด มีการกําหนดเปอร์เซนต์การถือครองเอ็นวีดีอาร์ของผู้ลงทุนแต่ละรายและการรายงานข้อมูลการถือครองเอ็นวีดีอาร์มายังบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ด้วยหรือไม่

 
 

ตอบ  

ผู้ลงทุนแต่ละรายจะสามารถถือครองเอ็นวีดีอาร์และหลักทรัพย์อ้างอิงได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ โดยผู้ลงทุนจะต้องนับรวมเอ็นวีดีอาร์และหลักทรัพย์อ้างอิงของบุคคลที่เกี่ยวโยง ตามมาตรา 258 และเมื่อมีการได้มาหรือหรือจำหน่ายเอ็นวีดีอาร์รวมกับหลักทรัพย์อ้างอิงทุกร้อยละ 5จะต้องทำการรายงานแบบ 246–2-NVDR มายังบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด กรณีผู้ลงทุนรายใดถือครองเอ็นวีดีอาร์ รวมกับหลักทรัพย์อ้างอิงเกินกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของหลักทรัพย์อ้างอิงที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการบริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด มีสิทธิจะบังคับซื้อคืนเอ็นวีดีอาร์ส่วนที่เกินได้ทันที

 
 

 


 
 

25.

บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด มีข้อจำกัดในการเสนอขายเอ็นวีดีอาร์ในหลักทรัพย์อ้างอิงใดหรือไม่

 
 

ตอบ  

ไม่มีข้อจำกัดในการเสนอขายเอ็นวีดีอาร์

 
 

 


 
 

26.

ผู้ลงทุนสามารถทำรายการขอเปลี่ยนหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนต่างด้าว (Thai Trust Fund :TTF) เป็นเอ็นวีดีอาร์โดยวิธีการทำรายการซื้อขายแบบ Trade Report ได้หรือไม่

 
 

ตอบ  

ผู้ลงทุนไม่สามารถทําการเปลี่ยนหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนต่างด้าว (Thai Trust Fund :TTF) เป็นเอ็นวีดีอาร์ได้โดยวิธีการทำรายการซื้อขายแบบ Trade Report ทั้งนี้ หากประสงค์ที่จะเปลี่ยนหน่วยลงทุนเป็นเอ็นวีดีอาร์ ต้องทำรายการขายหน่วยลงทุนและซื้อเอ็นวีดีอาร์ผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ด้วยวิธีซื้อขายแบบจับคู่คำสั่งอัตโนมัติ (Automatic Order Matching: AOM)

 
 

 


 
 

27.

บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด สามารถลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิง ประเภทใดได้บ้าง

 
 

ตอบ  

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อนุญาตให้ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ 4 ประเภท ดังนี้
- หุ้นสามัญ
- หุ้นบุริมสิทธิ์
- ใบสำคัญแสดงสิทธิ
- ใบแสดงสิทธิ์ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้

 
 

 


 
 

28.

ผู้ลงทุนที่ใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ (เอ็นวีดีอาร์) จะได้รับมอบหลักทรัพย์จากการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ (เอ็นวีดีอาร์) เป็นเอ็นวีดีอาร์หรือหลักทรัพย์อ้างอิง

 
 

ตอบ  

ผู้ลงทุนที่ใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ (เอ็นวีดีอาร์) จะได้รับมอบหลักทรัพย์เป็นเอ็นวีดีอาร์เท่านั้นตามประเภทของหลักทรัพย์เดิมที่ผู้ลงทุนใช้สิทธิแปลงสภาพ

 
 

 


 
 

29.

หลักทรัพย์ประเภทกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) สามารถลงทุนเป็นเอ็นวีดีอาร์ได้หรือไม่

 
 

ตอบ  

ไม่ได้ เพราะกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นหลักทรัพย์ประเภทหน่วยลงทุน ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้อนุญาตให้ บริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ลงทุนได้

 
 

 


 
 

30.

เลขรหัสหลักทรัพย์สากล (ISIN Code) ของเอ็นวีดีอาร์เป็นค่าเดียวกับหลักทรัพย์อ้างอิงหรือไม่

 
 

ตอบ  

เลขรหัสหลักทรัพย์สากล ( ISIN Code) ของ เอ็นวีดีอาร์เป็นคนละค่ากับหลักทรัพย์อ้างอิงเนื่องจากถือว่าเป็นคนละ หลักทรัพย์ สามารถดูรายละเอียด ISIN Codeของเอ็นวีดีอาร์ ได้จาก Website: www.set.or.th/nvdr

 
 

 


 
 

31.

การคำนวณสิทธิของผู้ลงทุนกรณีปิดสมุดทะเบียนเพื่อจัดสรรสิทธิประโยชน์ในหุ้นเพิ่มทุน (XR) ของเอ็นวีดีอาร์และหลักทรัพย์อ้างอิง มีวิธีคำนวณสิทธิอย่างไร

 
 

ตอบ  

การคํานวณสิทธิในหุ้นเพิ่มทุน (XR) ของผู้ลงทุนในเอ็นวีดีอาร์และหลักทรัพย์อ้างอิงจะแยกจากกันเพราะถือว่าเป็นคนละหลักทรัพย์

 
 

 


 
 

32.

สมาชิกศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ต้องดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือเอ็นวีดีอาร์และหลักทรัพย์อ้างอิงณ วันปิดสมุดทะเบียน เพื่อจัดส่งมายังบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด อย่างไร

 
 

ตอบ  

สมาชิกศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ต้องดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือเอ็นวีดีอาร์และหลักทรัพย์อ้างอิง ณ วันปิดสมุดทะเบียน แยกจากกัน เพราะถือว่าเป็นคนละหลักทรัพย์

 
 

 


 
 

33.

ผู้ลงทุนในเอ็นวีดีอาร์จะได้รับสิทธิประโยชน์ในเงินเทียบเท่าปันผล (XD) หรือสิทธิในหุ้นเพิ่มทุน (XR) โดยตรงจากบริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ใช่หรือไม่

 
 

ตอบ  

ใช่ โดยบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จะเป็นผู้รับสิทธิประโยชน์จากบริษัทจดทะเบียน และนำสิทธิประโยชน์มาจัดสรรให้แก่ผู้ถือเอ็นวีดีอาร์ที่มีชื่อปรากฏตามรายชื่อ ณ วันปิดสมุดทะเบียนที่ให้สิทธิ

 
 

 


 
 

34.

เงินเทียบเท่าเงินปันผลถือเป็นเงินได้ประเภทใด

 
 

ตอบ  

เงินเทียบเท่าเงินปันผลถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) ซึ่งผู้ลงทุนไม่สามารถนำไปเครดิตภาษีเงินปันผลได้

 
 

 


 
 

35.

บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จะออกหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายสําหรับการจ่ายเงินเทียบเท่าเงินปันผลให้แก่ผู้ลงทุนหรือไม่

 
 

ตอบ  

บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จํากัด จะออกหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายเงินเทียบเท่าเงินปันผลให้แก่ผู้ลงทุน เช่นเดียวกับการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน

 
 

 


 
 

36.

ผู้ลงทุนที่ถือครองเอ็นวีดีอาร์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากหลักทรัพย์ที่บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิงที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หรือไม่

 
 

ตอบ  

กรณีที่ไทยเอ็นวีดีอาร์จ่ายเงินเทียบเท่าเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน(กิจการ BOI) ให้แก่ผู้ถือเอ็นวีดีอาร์นั้น เนื่องจากมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลผู้ได้รับเงินปันผลจากกิจการ BOI โดยตรงเท่านั้น ดังนั้น ผู้ถือเอ็นวีดีอาร์ ซึ่งมีหลักทรัพย์อ้างอิงจากกิจการ BOI จึงไม่ใช่ผู้ลงทุนโดยตรงในกิจการ BOI ดังนั้น จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว

 
 

 


 
 

37.

เอ็นวีดีอาร์สามารถจำนำหรือใช้เป็นหลักประกันได้เหมือนหลักทรัพย์อ้างอิงหรือไม่

 
 

ตอบ  

ผู้ลงทุนในเอ็นวีดีอาร์สามารถนำเอ็นวีดีอาร์ไปจํานําหรือใช้เป็นหลักประกันได้เหมือนหลักทรัพย์อ้างอิง

 
 

 


 
 

38.

ระบบบัญชีลูกค้าเงินกู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Credit Balance) จะมีการกําหนด Initial Margin ของเอ็นวีดีอาร์ที่จะซื้อขายหรือนํามาเป็นหลักประกันเท่ากับหลักทรัพย์อ้างอิงหรือไม่

 
 

ตอบ  

เอ็นวีดีอาร์จะใช้ Initial Margin เท่ากับหลักทรัพย์อ้างอิง

 
 

 


 
 

39.

ผู้ถือเอ็นวีดีอาร์ จำเป็นต้องสมัครบริการโอนเงินปันผลเข้าบัญชีธนาคาร(e-Dividend) สำหรับการรับเงินเทียบเท่าเงิน ปันผลผ่านบัญชีธนาคารแยกจากการสมัคร e-Dividend ของการรับเงินปันผลจากหลักทรัพย์อ้างอิงหรือไม่

 
 

ตอบ  

การสมัคร e-Dividend เพียงครั้งเดียว จะครอบคลุมการรับเงินปันผลจากหลักทรัพย์อ้างอิงและเงินเทียบเท่าเงินปันผล
จากเอ็นวีดีอาร์

 
 

 


 
 

40.

ในการใช้บริการรับโอนเงินเทียบเท่าเงินปันผลเข้าบัญชีธนาคาร(e-Dividend) ตามข้อ 37 มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัด หรือไม่ อย่างไร

 
 

ตอบ  

    1. การรับโอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชี รองรับกรณีหลักทรัพย์อ้างอิงเข้าร่วมบริการ e-Dividend

    2. ในอดีตที่ผ่าน หากเป็นรายการโอนเงินข้ามธนาคารผ่านระบบ Bulk Payment System (BPS)  จะกำหนดเพดานมูลค่าการโอนสูงสุดไม่เกิน  40 ล้านบาท หากเกินกว่าจำนวนดังกล่าวจะออกเป็นเช็ค ซึ่งต่อมาในปี 2563 ได้มีการปรับปรุงงานบริการโดยขยายเพดานมูลค่าการโอนเงินข้ามธนาคารเป็นแบบไม่จำกัดจำนวนเงิน ส่งผลต่อเนื่องให้ผู้ถือเอ็นวีดีอาร์ได้รับเงินเร็วขึ้น โดยจะได้รับในวันทำการถัดจากวันจ่ายเงินปันผลของหลักทรัพย์อ้างอิง สำหรับทุกกรณี   ทั้งนี้ เริ่มใช้กับหลักทรัพย์ที่กำหนดวัน Record Date ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2563 หรือวันปิดสมุดทะเบียน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
 
 

 


 
 

41.

ผู้ถือเอ็นวีดีอาร์สามารถขอรับเงินเทียบเท่าเงินปันผล จากบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด เป็นสกุลเงินต่างประเทศได้ หรือไม่

 
 

ตอบ  

ทำได้ โดยแจ้งความประสงค์ไปยังบริษัทสมาชิก (Broker)ซึ่งบริษัทสมาชิกจะดำเนินการบันทึกข้อมูลดังกล่าวในระบบงานรับฝากหลักทรัพย์ (PTI) ทั้งนี้การขอรับบริการดังกล่าว จะต้องดำเนินการก่อนวันปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับสิทธิ ในเงินปันผล โดยจะมีผลกับทุกๆหลักทรัพย์ทั้งหุ้นและเอ็นวีดีอาร์ และจนกว่าบริษัทสมาชิกจะทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูล
-สำหรับผู้ถือเอ็นวีดีอาร์ที่ได้รับเงินเทียบเท่าเงินปันผลมีมูลค่าสูงกว่า 40 ล้านบาท บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จะดำเนินการออกเป็นเช็คแทนการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร (e-Dividend)

 
 

 


 
 

42.

ผู้ลงทุนจะสามารถสั่งซื้อขายเอ็นวีดีอาร์ของหลักทรัพย์อ้างอิงที่ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ประกาศแจ้งงดลงทุนได้หรือไม่

 
 

ตอบ  

ผู้ลงทุนสามารถสั่งขายเอ็นวีดีอาร์ได้ตามปกติ แต่ไม่สามารถซื้อเอ็นวีดีอาร์ได้ เนื่องจาก บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จะไม่ออกเอ็นวีดีอาร์เพิ่มสำหรับหลักทรัพย์ที่งดลงทุน ทั้งนี้หากผู้ลงทุนสั่งซื้อเป็นเอ็นวีดีอาร์ จะได้รับมอบเป็นหลักทรัพย์อ้างอิงแทน

 
 

43.

กรณีผู้ถือ NVDR ได้รับเช็คจากการจองซื้อหุ้นที่ไม่ได้รับการจัดสรร หรือ การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ แล้วพบว่าเช็คหมดอายุ หรือ ผู้ถือ NVDR ไม่มีบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารที่อยู่ในประเทศไทย จะสามารถดำเนินการออกเช็ค หรือรับเงินทดแทนในรูปแบบใดได้บ้าง

 
 

ตอบ  

ผู้ถือ NVDR สามารถดำเนินการ ขอออกเช็คฉบับใหม่ทดแทน หรือจะขอให้ดำเนินการโอนเข้าบัญชีของผู้ถือ NVDR ในรูปแบบผ่านระบบ SWIFT
โดยใช้แบบฟอร์ม แบบคำขอแก้ไข/ขอออกเช็คหรือสิทธิอื่นใดที่เป็นตัวเงิน ตามที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ของดการให้บริการออกดราฟท์แทนการออกเช็คฉบับเดิม ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

 
     
     
     
     
     
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ SET Contact Center www.set.or.th/contactcenter 02 009 9999
top