ถ้าเป็นช่วงเศรษฐกิจเติบโตไปได้เรื่อยๆ ตามปกติ ผลตอบแทนของพันธบัตร (Yield Curve) รัฐบาลอายุยาวจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าอายุสั้น เนื่องจากเป็นเรื่องของระยะเวลา ความเสี่ยง และสภาพคล่อง แต่เมื่อไหร่ที่ผลตอบแทนพันธบัตรอายุยาวปรับลดลงเข้าใกล้เคียงหรือต่ำกว่าพันธบัตรอายุสั้น อาจเป็นสัญญาณไม่ดีทางด้านเศรษฐกิจ
ความเคลื่อนไหวอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร กำหนดด้วยปัจจัยความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ย มุมมองต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยหากเป็นพันธบัตรระยะสั้น ผลตอบแทนจะเคลื่อนไหวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง ส่วนพันธบัตรระยะยาว เคลื่อนไหวตามความคาดหวังอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตของเศรษฐกิจ
คมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ อธิบายเพิ่มเติมถึงการดูความเคลื่อนไหวผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ด้วยหลักง่ายๆ ก็คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุยาว ขึ้นอยู่กับตลาดว่าจะมีมุมมองต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP Growth) มากน้อยแค่ไหน หมายความว่า ระดับผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีเท่ากับหรือใกล้เคียงกับตัวเลขประมาณการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว
“เช่น ปีที่แล้วตลาดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเติบโต 3% ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี ขยับขึ้นไปแตะ 3% และตอนสิ้นปีที่แล้วประเมินเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาปีนี้เติบโตเพียง 2.1% ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีค่อยๆ ปรับลดลง ล่าสุดอยู่แถวๆ 2.4%”
ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุสั้นๆ เช่น 1 เดือน, 3 เดือน หรือ 6 เดือน เคลื่อนไหวอยู่แถวๆ 2.4% “พันธบัตรอายุสั้นๆ ผูกติดอยู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ปัจจุบันอยู่ในกรอบ 2.25 – 2.5%” คมศร บอก
วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2019 ที่ผ่านมา ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปีอยู่ที่ระดับ 2.44% อายุ 3 เดือนอยู่ระดับ 2.46% สถานการณ์ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว เรียกว่าเหตุการณ์ Inverted Yield Curve ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และเหตุการณ์แบบนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีโอกาสชะลอตัวหรือถดถอย
สำหรับการใช้เหตุการณ์ Inverted Yield Curve ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต หากเป็นนักลงทุนทั่วไปจะดูพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี กับอายุ 2 ปี ขณะที่เฟดใช้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี กับอายุ 3 เดือนในการประเมินภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาเฟดได้ทดลองใช้พันธบัตรอายุ 10 ปีกับหลายอายุ เพื่อสร้างโมเดลในการประเมินภาวะเศรษฐกิจ ผลปรากฏว่าอายุ 10 ปี กับอายุ 3 เดือน ประเมินได้แม่นยำที่สุด ดังนั้น เมื่อเกิด Inverted Yield Curve ครั้งล่าสุดจึงทำให้ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาพอสมควร
หากดูสถิติเมื่อเกิดเหตุการณ์ Inverted Yield Curve แล้วตามมาด้วยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอตัวหรือถดถอยตั้งแต่ปี 1960 ปรากฏว่าเกิดขึ้น 7 ครั้ง แต่เป็นน่าสังเกตว่าไม่มีความแน่นอนในเรื่องระยะเวลา เช่น Inverted Yield Curve วันที่ 12 มกราคม ปี 1966 ต้องรอถึง 47 เดือนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะถดถอย (1 ธันวาคม ปี 1969) พอมาถึงเหตุการณ์ Inverted Yield Curve ในวันที่ 1 มิถุนายน ปี 1973 อีกเพียง 5 เดือนถัดมา เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาได้เข้าสู่ภาวะถดถอย (1 พฤศจิกายน 1973) และล่าสุดเกิดเหตุการณ์ Inverted Yield Curve เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ปี 2001 อีก 23 เดือนถัดมาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกาก็ปะทุขึ้น (1 ธันวาคม ปี 2007)
สถิติหลังเกิด Inverted Yield Curve และตามด้วยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอตัวหรือถดถอย
วัฏจักรเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา |
วันที่เกิด Inverted Yield Curve |
วันที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวหรือถดถอย |
ระยะเวลา |
|
เริ่ม |
สิ้นสุด |
|||
1 มี.ค. 1961 |
30 พ.ย. 1970 |
12 ม.ค. 1966 |
1 ธ.ค. 1969 |
47 เดือน |
1 ธ.ค. 1970 |
31 มี.ค. 1975 |
1 มิ.ย. 1973 |
1 พ.ย. 1973 |
5 เดือน |
1 เม.ย. 1975 |
31 ก.ค. 1980 |
1 พ.ย. 1978 |
1 ม.ค. 1980 |
14 เดือน |
1 ส.ค. 1980 |
30 พ.ย. 1982 |
27 ต.ค. 1980 |
1 ก.ค. 1981 |
8 เดือน |
1 ธ.ค. 1980 |
31 มี.ค. 1991 |
22 พ.ค. 1989 |
1 ก.ค. 1990 |
13 เดือน |
1 เม.ย. 1991 |
30 พ.ย. 2001 |
11 ก.ย. 1998 |
1 มี.ค. 2001 |
30 เดือน |
1 ธ.ค. 2001 |
30 มิ.ย. 2009 |
18 ม.ค. 2006 |
1 ธ.ค. 2007 |
23 เดือน |
เฉลี่ยระยะเวลาจาก Invert สู่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอย |
20 เดือน |
|||
1 ก.ค. 2009 |
ปัจจุบัน |
22 มี.ค. 2019 |
? |
? |
ที่มา : Bloomberg, ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้
และหลังจากเหตุการณ์ Inverted Yield Curve เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2019 ที่ผ่านมา เฟดประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอาจเกิดภาวะชะลอตัวในอีก 12 เดือนข้างหน้า หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
ด้านคมศร ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีโอกาสชะลอตัวอีก 20 เดือนข้างหน้า “เหตุผลสนับสนุน คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาค่อยๆ ลดลง รวมถึงไตรมาส 4 ปีนี้ ญี่ปุ่นจะขึ้นภาษี ขณะที่จีนเริ่มลดการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ครึ่งหลังปีนี้ จึงอาจเห็นเศรษฐกิจทั้งโลกเติบโตลดน้อยถอยลงตั้งแต่ต้นปีหน้าหรือปลายปีหน้า ซึ่งอยู่ในช่วงที่เฟดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีโอกาสถดถอย แน่นอนว่าย่อมกระทบเศรษฐกิจทั้งโลก”
อย่างไรก็ตาม คมศรกล่าวว่า “เมื่อเกิด Inverted Yield Curve แล้ว ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวหรือถดถอย 100% แต่อาจเป็นเพียงสัญญาณว่าเฟดมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ”
กระนั้นก็ดี เมื่อ Inverted Yield Curve เกิดขึ้นแล้ว นักลงทุนควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน เพราะหากเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อาจหมายถึง ตลาดหุ้นกำลังเข้าสู่ช่วงปลายยุคกระทิง (Bull Market)
“Upside เหลือน้อยลง มีโอกาสเห็น New High ยากขึ้น” คมศร บอก
คมศร แนะนำการวางกลยุทธ์ลงทุนว่าหากลงทุนระยะสั้น เมื่อเห็นราคาหุ้นปรับลดลงให้เข้าซื้อและเมื่อราคาขยับขึ้นให้ขายทำกำไร ส่วนนักลงทุนระยะกลางขึ้นไป เน้นลงทุนหุ้นปันผลหรือลดพอร์ตหุ้นแล้วเข้าลงทุนกองทุนรวมผสม
ฐิติเมธ โภคชัย
ผู้บริหารงาน ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ความคิดเห็นของท่านเกี่ยวกับ “เว็บไซต์เงินทองต้องวางแผน”
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์เงินทองต้องวางแผน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์เงินทองต้องวางแผน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด