
บ่อยครั้งที่ผู้เขียนแนะนำหุ้นขนาดใหญ่ (Big Cap) ที่มักมีราคาตลาดหลักร้อยบาทขึ้นไป นักลงทุนมักถามต่อว่ามีหุ้นตัวอื่นๆ ให้เลือกหรือไม่ เพราะความรู้สึกว่าราคาหุ้นหลักร้อย คือ แพง
เนื่องจากมีเม็ดเงินลงทุนที่จำกัด หากซื้อหุ้นราคาหลักร้อยบาทจะได้ไม่กี่หุ้น จึงควรเน้นหุ้นราคาหลักสิบและหากเป็นไปได้ซื้อหุ้นราคาต่ำสิบดีกว่า เพราะด้วยวงเงินเท่ากันสามารถซื้อหุ้นราคาไม่แพงได้จำนวนหุ้นมากกว่า
ความคิดนี้ดีจริงหรือไม่
ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องของ “อารมณ์ – ความรู้สึก” มากกว่า “เหตุผล” เช่น วงเงินลงทุน 50,000 บาท ต้องการลงทุนหุ้นธนาคาร ABC ราคา 145.00 บาท สามารถลงทุนได้ 300 หุ้น ใช้เงินลงทุน 43,500 บาท แต่นักลงทุนอาจมองหุ้นธนาคาร XYZ ราคา 2.40 บาท ได้จำนวนหุ้น 20,800 หุ้น ใช้เงินลงทุน 49,920 บาท
ความแตกต่างของหุ้นขนาดใหญ่และขนาดกลาง คือ ความเหวี่ยงของราคาหุ้นหรือค่า Beta ที่หุ้นขนาดกลางหรือขนาดเล็กมี Beta มากกว่า 1 หมายความว่า เมื่อตลาดหุ้นขยับขึ้นหรือลง หุ้นที่มีค่า Beta มากกว่า 1 ย่อมแกว่งไปในทางเดียวกับตลาดหุ้นรวมหรือมากกว่า ขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ค่านี้มักใกล้เคียง 1 คือ เคลื่อนไหวใกล้เคียงกับภาพรวมของตลาดหุ้น
กรณีราคาหุ้น ABC และ XYZ ขยับขึ้น 5% เท่ากัน คือ ABC ราคาขยับจาก 145.00 บาทเป็น 152.25 บาท ส่วน XYZ ขยับจาก 2.40 บาทเป็น 2.52 บาท ผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนในหุ้นทั้งสองจะใกล้เคียงกัน คือ พอร์ต ABC มูลค่าเงินลงทุนขยับเป็น 45,675 ล้านบาท (ผลตอบแทน 5%) ส่วน XYZ มูลค่าพอร์ตขยับเป็น 52,416 ล้านบาท (ผลตอบแทน 5%) ในทางตรงกันข้าม หากราคาหุ้นปรับฐานลง มูลค่าพอร์ตการลงทุนทั้งสองย่อมเท่ากัน
ดังนั้น ราคาหุ้นหลักร้อย สิบบาทหรือต่ำสิบ ไม่ใช่ประเด็นที่มีผลต่อพอร์ต แต่ที่มีผลคือ การเลือกหุ้นผ่านการประเมินมูลค่าของหุ้นนั้นว่า “ถูกหรือแพง” เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในกลุ่มเดียวกัน รวมถึงประเด็นการลงทุนที่โดดเด่น เกาะกระแสไปกับการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของสถาบันทั้งในและต่างประเทศ หรือแนวโน้มผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัว (Turnaround) ย่อมเป็นเกณฑ์ในการคัดสรรหุ้นมากกว่าการมองเพียงแค่ราคาตลาด ณ เวลานั้น เพราะราคาตลาดเป็นเพียงองค์ประกอบ ไม่ใช่ปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนเพียงอย่างเดียว
หลายต่อหลายครั้งที่หุ้นหลักสิบหรือต่ำสิบบาท กลับมีมูลค่าแพงกว่าหุ้นหลักร้อยบาท ผ่านการพิจารณาจากการประเมินมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) หรือราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (P/BV Ratio) ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม ภายใต้การเติบโตของผลการดำเนินงานที่ไม่ได้โดดเด่นไปกว่าหุ้นหลักในกลุ่มดังกล่าว
กลยุทธ์การลงทุนในแต่ละช่วงแต่ละจังหวะจึงต้องปรับแต่งให้เข้ากับสภาวะการลงทุนช่วงนั้น เพราะบ่อยครั้งดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้น แต่พอร์ตการลงทุนของนักลงทุนกลับไม่ขยับหรือปรับตัวลงสวนทางกับภาพรวมของดัชนีหุ้น เนื่องจากหุ้นในพอร์ตกลับเลือกลงทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กที่ติดกับดักราคาตลาด
หนังสือ “จริต จิตวิทยาการลงทุน”
เขียนโดย มยุรี โชวิกรานต์, CISA
ความคิดเห็นของท่านเกี่ยวกับ “เว็บไซต์เงินทองต้องวางแผน”
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์เงินทองต้องวางแผน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์เงินทองต้องวางแผน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด