ตีพิมพ์ลงวารสาร Productivity Corner ฉบับเดือนตุลาคม 2553
ระยะเวลาผ่อนส่งบ้านที่ ยาวนาน 20-30 ปี ถ้าหากเริ่มต้นผ่อนที่อายุ 30 ปี บางคนจะผ่อนหมดเมื่ออายุ 60 ปี หรือเกษียณพอดี คนบางกลุ่มถามว่าทำไมไม่เริ่มให้เร็วกว่าอายุ 30 ปี เช่น อายุ 25 ปี หรือน้อยกว่านั้น คำตอบในใจของมนุษย์เงินเดือนที่เคยผ่อนบ้านหลังแรกคงจะตอบด้วยเสียงเบาๆ ว่า... เริ่มเร็วนั้นยากเพราะกว่าที่จะสะสมเงินดาวน์บ้านให้ได้สักหลัง คิดอย่างง่ายๆ ที่ 500,000 บาท ทำงานกี่ปีจึงจะมีเงินเก็บเท่านี้ ที่สำคัญคนที่มีวินัยทางการเงินต่ำ ทำงานใหม่ๆ มีเงินก้อนจากโบนัส หรือได้เงินเดือนเพิ่มนิดๆ หน่อยๆ ก็ผันไปเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกอื่น เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือรถยนต์กันเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเริ่มต้นที่อายุ 30 ปี
บางคนอาจมีคำถามในใจอีกว่า แล้วมันแปลกตรงไหนที่เราจะผ่อนบ้านตอนอายุ 30 ปี แล้วผ่อนหมดเมื่ออายุ 60 ปี เพราะความจริง เงินผ่อนบ้านไม่ได้มากมายอะไร ถ้าเช่นนั้นลองพิจารณาตารางดังต่อไปนี้
บางคนเห็นตารางนี้แล้วแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่าเงินกู้ซื้อบ้านหลังเล็กๆ ของตนนั้นเมื่อจ่ายกันจนหมดหนี้แล้วจะเสียดอกเบี้ยกันมโหฬารขนาดนี้ ตัวเลขในตารางข้างต้นตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ไม่มีการจ่ายเงินงวดก้อนใหญ่ก่อนครบกำหนดเลยแม้แต่ครั้งเดียว
แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นคนประเภทไม่คิดมากกับบ้านที่มูลค่า 1 ล้านบาท แต่คุณจ่ายเงินทั้งสิ้น 1.6 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าเวลาผ่านไป 30 ปี บ้านของเราจะมีมูลค่ามากกว่านี้อย่างแน่นอน หรือคุณจะเป็นคนประเภท ทนไม่ได้ที่จะต้องเสียดอกเบี้ยเกินกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าของที่ซื้อ ลองมาหาวิธีง่ายๆ เพื่อลดดอกเบี้ยที่ต้องเสียให้กับธนาคารกันดีกว่า
- เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารที่คุณจะกู้ซื้อบ้านเพิ่มขึ้นหนึ่งบัญชี โดยกันไว้ให้เป็นบัญชีสำหรับจ่ายหนี้บ้านโดยเฉพาะ สมมติให้เรียกว่าบัญชีเดือนที่ 13
- นำเงิน ครึ่งหนึ่งของยอดที่ต้องผ่อนบ้านทุกเดือนทะยอยใส่ไว้ในบัญชีในข้อ 1 ทุก 2 สัปดาห์ เช่น หากต้องผ่อนบ้านเดือนละ 4,544.05 บาท ตามตารางตัวอย่างสำหรับบ้านราคา 1 ล้านบาท (คิดดอกเบี้ย 5 % ) ให้ฝากเงินราย 2 สัปดาห์ที่ยอด 2,272 บาท
Note : ใน 1 ปี มี 52 สัปดาห์นั่นแปลว่า คุณจะมียอดเงินในบัญชีนี้ที่ 2,272 x 26 สัปดาห์ = 59,072 มากกว่า ที่ต้องจ่ายหนี้จริง 4,544 x 12 เดือน = 54,528 บาท อยู่ 4,544 บาท หรือมากกว่าอยู่ 1 เดือน
- เมื่อถึงกำหนดจ่ายเงินงวดปกติ ให้นำเงินส่วนเกิน (4,544 บาท ในข้อ 2) มาแบ่งเป็น 12 งวด ได้ 4,544/12 = 378.67 บาท แล้วจ่ายเพิ่มเข้าไปจากยอดเงินงวดที่ต้องจ่ายรายเดือนปกติ นั่นคือแทนที่จะจ่ายเดือนละ 4,544 บาท ให้จ่ายที่ 4,544.05+378.67= 4, 922.72
หลังจากนั้นลองพิจารณาตารางต่อไปนี้ใหม่ แล้วคุณจะพบความจริงบางอย่าง
ด้วยกลยุทธ์เก็บเงินเพิ่มด้วยบัญชีเดือนที่ 13 ทำให้คุณสามารถประหยัดเงินได้ แถมเป็นอิสระจากภาระหนี้ได้เร็วขึ้นอีกอย่างน้อย 4 ปี เรียกว่าสำหรับใครก็ตามที่เริ่มผ่อนตอนอายุ 30 แทนทึ่จะต้องผ่อนไปจนเกษียณ แต่สามารถเป็นไทได้เร็วขึ้น และอาจมีทางเลือกในการเกษียณก่อนกำหนดได้อีกด้วย การที่ต้องผ่อนทุกเดือนอยู่แล้ว ในความรู้สึกของคุณกับการกันเงินทุก 2 สัปดาห์ อาจแตกต่างกันเล็กน้อย
ในทางปฏิบัติคุณควรที่จะสร้างบัญชีเดือนที่ 13 นี้ล่วงหน้าก่อนเริ่มผ่อนบ้านงวดแรกสัก 2-3 เดือน แล้วให้ใช้วิธีถอนเงินจากบัญชีเดือนที่ 13 นี้ไปชำระหนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ทุก 2 สัปดาห์ คุณนำเงินไปฝากในบัญชีเดือนที่ 13 และเมื่อถึงกำหนดสิ้นเดือนชำระหนี้บ้าน คุณเพียงแค่เขียนใบถอนเงินจากบัญชีเดือนที่ 13 ไปชำระหนี้บ้านด้วยยอดที่สูงกว่าที่ธนาคารกำหนดเล็กน้อย แล้วสุดท้ายอิสระภาพจากการเป็นหนี้ก็จะมาถึงเร็วกว่าที่คิดจนบางคนไม่รู้ตัวเลยทีเดียว
วีระพล บดีรัฐ
รองผู้อำนวยการ
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ความคิดเห็นของท่านเกี่ยวกับ “เว็บไซต์เงินทองต้องวางแผน”
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์เงินทองต้องวางแผน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์เงินทองต้องวางแผน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด