เราคุยกันเกี่ยวกับการวางแผนมรดกเรื่อง “ถูกคน” ไปเรียบร้อยแล้ว ยังเหลือ “ถูกเงิน” กับ “ถูกต้นทุน” วันนี้เรามาเริ่มกันด้วย “ถูกเงิน” ครับ
“ถูกเงิน” คือ การวางแผนให้ทายาทคนที่เราตั้งใจให้รับมรดกจากเรา สามารถได้รับมรดกในจำนวนที่เราตั้งใจ ตัวอย่างเช่น เรามีความหวังว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา ขอให้ลูกของเราได้รับทรัพย์สินจากเราเป็นมูลค่า 10 ล้านบาท การบริหารมรดกให้ไปสู่ทายาทได้ 10 ล้านบาทตามที่หวังนี่แหละครับ “ถูกเงิน”
แล้วจะ “ถูกเงิน” ต้องทำอย่างไรบ้าง ทำได้ 3 อย่าง ครับ คือ
- เตรียมทรัพย์สินก่อนตายให้ได้ 10 ล้านบาท
- เตรียมทรัพย์สินหลังตายให้ได้ 10 ล้านบาท
- ทำทั้งข้อ 1 และ 2
เตรียมทรัพย์สินก่อนตายให้ได้ 10 ล้านบาท ทำยังไง
เริ่มจากการทำบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน ของตนเองให้เรียบร้อยแล้วบอกคนที่เรารัก อย่างเช่น คู่สมรส ฯลฯ ให้ทราบว่าเรามีทรัพย์สินอะไร เท่าไหร่ อยู่ที่ไหน เผื่อว่าเราเป็นอะไร ลูกหลานจะได้เอาทรัพย์สินเราออกมาใช้จ่าย ลองคิดดูนะครับว่า หากเราเป็นอะไรไป ถ้าไม่ทำบัญชีไว้ ลูกหลานเราก็ไม่รู้ทรัพย์สมบัติเราอยู่ไหน เหมือนสิ่งที่เราเก็บออมตลอดชีวิตขาดทุน 100% และจะยิ่งแย่หากเรามีหนี้อยู่ด้วย คู่สมรสเราต้องร่วมรับผิดชอบหนี้นั้น เจ้าหนี้เขาไม่ลืมแน่นอน เท่ากับเราทำร้ายคนที่เรารักนั่นเอง
ตัวอย่างที่พอจะยกให้เห็นได้ก็เช่น กรณีวัดสวนแก้วพบทรัพย์สินซุกซ่อนอยู่ในเตียงไม้โบราณซึ่งมีผู้บริจาคให้กับวัด ประกอบ ด้วยเงินสด 1,190,000 บาท ทองรูปพรรณหนัก 10 บาท พระเลี่ยมทอง และนาฬิกาโรเล็กซ์ โดยทายาทที่เอามาบริจาคก็ไม่ทราบว่าคุณพ่อซ่อนทรัพย์สินไว้ที่หัวเตียง เรื่องก็วุ่นตอนวัดสวนแก้วประกาศหาเจ้าของเตียงเพื่อคืนทรัพย์สินนี่แหละ ปรากฏว่ามีผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของมากมาย โชคดีของทายาทที่เก็บหลักฐานใบซื้อขายนาฬิกาโรเล็กซ์ไว้ซึ่งระบุเลขที่และรหัสนาฬิกาไว้ ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกันกับบนตัวเรือนนาฬิกาโรเล็กซ์ที่พบในเตียงบริจาค เราลองมาคิดดู ถ้าเกิดทายาทไม่ได้เก็บหลักฐานใบซื้อขายไว้หล่ะ ก็อาจไม่ได้ทรัพย์มรดกที่พ่อสะสมไว้ก็เป็นได้ ดังนั้น รีบทำบัญชีเถอะครับ อย่าไปคิดว่า เรามีทรัพย์สินไม่เยอะ ไม่ต้องทำ เพราะทุกบาทของเรามีค่ากับลูกหลานเสมอ และรีบทำตั้งแต่วันนี้ อย่าลืมที่ท่าน ว. วชิระเมธี สอนนะครับ “ไม่แน่ว่าพรุ่งนี้กับชาติหน้า อะไรมาถึงก่อน”
ขั้นตอนต่อมา คือ การลงทุน เงินที่เราเก็บไว้เฉยๆ เท่ากับเราทำร้ายเงินของเราที่จะเก็บให้ลูกหลานไปเรื่อยๆตลอดเวลา เพราะค่าของเงินจะถูกกัดกร่อนตลอดเวลาด้วยเงินเฟ้อ ทำให้แม้จำนวนเงินในกระเป๋าของเราเท่าเดิม แต่มูลค่าของมันกลับลดน้อยลงจนน่าตกใจ ตัวอย่างง่ายๆ ที่เกิดกับทุกคน ก็คือ ย้อนหลังไปซัก 10 ปี เวลาเราเป็นหวัด ปวดหัว ตัวร้อนไปหาหมอ ค่ายาค่าหมอจะอยู่ซักประมาณ 200-300 บาท มาตอนนี้อาการทุกอย่างเหมือนเดิม ไปหาหมอ เราต้องเตรียมเงินไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ลำพังแค่ค่าบริการพยาบาลก็ปาไป 300 บาทแล้ว (แค่วัดอุณหภูมิกับความดันเท่านั้น)
แล้วเงินเฟ้อคืออะไร เงินเฟ้อ ก็คือ ภาวะที่ราคาสินค้าแพงขึ้น ซึ่งก็จะมีหน่วยงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกระทรวงพาณิชย์คอยบอกเราอย่างสม่ำเสมอว่าตอนนี้เงินเฟ้อเท่ากับเท่าไหร่ แต่สำหรับผมแล้ว หากเราอยากจะรู้ว่าค่าใช้จ่ายเราแพงขึ้นเท่าไหร่ เราก็ควรมองกันที่เงินเฟ้อในชีวิตประจำวันของพวกเรา ก็คือ ดูว่า ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของเราจริงๆ แล้วเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น ผมเองค่าใช้จ่ายที่มาก ก็มี ค่าเช่าบ้าน ค่าเทอมลูก ค่าอาหาร ฯลฯ ผมก็ลองนำมาคำนวณเพื่อหาเงินเฟ้อในชีวิตประจำวัน โดยสมมติ ผมมีการใช้จ่ายในอาหาร 50% (แบ่งเป็นข้าวไข่เจียว 25% ข้าวแกง 25%) ค่าเช่าบ้าน 20% ค่าเทอมลูก 30%
เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแล้ว เท่ากับผมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มถึง 22.39%
จะเห็นนะครับว่า แค่อยู่เฉยๆ เงินเราก็ร่อยหรอจากเงินเฟ้อแล้ว เราจึงต้องลงทุนเพื่อให้เงินโตเร็วกว่าเงินเฟ้อ ลูกหลานเราจะได้ไม่ลำบาก แต่อย่างที่รัฐบาลเตือนอยู่เสมอครับว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” แต่เราก็สามารถบริหารความเสี่ยงได้ด้วยการหาข้อมูล หาความรู้ และมีวินัยการลงทุนครับ แต่ที่ต้องคำนึงไว้ก็คือ การลงทุนเราจะรู้เงินลงทุนเริ่มต้น แต่เราจะไม่รู้ว่าตอนจบเราจะได้เงินเท่าไหร่ ดังนั้น ถึงแม้เราจะตั้งใจเก็บเงินไว้เป็นมรดกให้ลูกเท่าไหร่ สุดท้ายเงินที่ยกให้ลูกจริงๆ อาจไม่ถึงเท่าที่ตั้งใจไว้ก็ได้ครับ
ครั้งหน้า เรามาคุยกันเรื่องเตรียมทรัพย์สินหลังตายให้ได้ 10 ล้านบาท ว่าต้องทำอย่างไร ลูกหลานเราถึงได้แน่ๆ 10 ล้านบาทเมื่อเราเสียชีวิตกันครับ
สาธิต บวรสันติสุทธิ์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
บ.อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
ความคิดเห็นของท่านเกี่ยวกับ “เว็บไซต์เงินทองต้องวางแผน”
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์เงินทองต้องวางแผน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์เงินทองต้องวางแผน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด