ครั้งที่แล้วเราคุยกันเกี่ยวกับการวางแผนมรดกเรื่อง “ถูกคน” ด้วยการทำพินัยกรรม อ้าว แล้วถ้าไม่ได้ทำพินัยกรรมหล่ะ ทรัพย์มรดกจะไปอยู่ที่ใคร ถ้าไม่มีพินัยกรรมทรัพย์สินจะตกได้แก่ทายาทโดยธรรมครับ รายละเอียดเป็นอย่างไร เรามาคุยกันครับ
ถ้าเจ้าของมรดก (ผู้ตาย) เสียชีวิต เฉพาะทรัพย์สินที่เป็นของผู้ตายจริงๆ เท่านั้นที่จะเป็นมรดก ทรัพย์สินคนอื่นไม่เกี่ยว ตัวอย่างเช่น สามีภริยาเมื่อคู่สมรสคนหนึ่งตายไป การสมรสย่อมสิ้นสุดลง ทรัพย์สินที่ทั้งสองมีอยู่ด้วยกันย่อมแยกออกจากกันโดยผลของกฎหมาย ของใครของมัน จะทำพินัยกรรมยกให้ใครก็ได้เฉพาะส่วนที่เป็นของตนเท่านั้น ไม่รวมถึงส่วนที่เป็นของคู่สมรสด้วย แม้ว่าในความเป็นจริงทรัพย์สินทั้งหมดจะยังอยู่รวมๆ กัน บางชิ้นก็เป็นชื่อของคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทรัพย์สินนั้นจะเป็นของคนนั้นแต่เพียงผู้เดียว
การที่คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ได้รับทรัพย์สินส่วนของตนแยกมา ก็ไม่ได้หมายความว่าได้รับมรดก หากแต่เป็นการได้ทรัพย์สินของตนคืนมา ส่วนทรัพย์สินของผู้ตายนั้น คู่สมรสจึงจะไปรับมาในฐานะมรดกอีกต่อหนึ่ง ถ้ามีการทำพินัยกรรมก็รับตามพินัยกรรมอย่างที่เราคุยกันครั้งที่แล้ว แต่ถ้าไม่ได้ทำพินัยกรรมก็จะรับในฐานะ “ ทายาทโดยธรรม”
สรุปก็คือ ทายาทโดยธรรมจะได้รับมรดกก็ต่อเมื่อไม่มีพินัยกรรมระบุไว้เป็นอย่างอื่น หรือถึงมีพินัยกรรมกำหนดไว้แล้วแต่ยังมีทรัพย์สินหลงเหลืออยู่ ทรัพย์สินที่หลงเหลืออยู่จึงจะตกไปถึงทายาทโดยธรรม
ทายาทโดยธรรมนั้น กฎหมายแบ่งออกเป็น 6 ลำดับ มีสิทธิรับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้
- ผู้สืบสันดาน อันได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื้อ และต่อๆ ไปจนสุดสาย
- บิดามารดา
- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
- พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
- ปู่ ย่า ตา ยาย
- ลุง ป้า น้า อา
สิทธิการรับมรดกในระหว่างทายาทโดยธรรมด้วยกันเองและคู่สมรส
-
ถ้ามีทายาทลำดับ (1) คือผู้สืบสันดานแล้ว ทายาทในลำดับอื่นๆ หมดสิทธิที่จะได้รับมรดกโดยสิ้นเชิง ยกเว้นทายาทลำดับ ( 2) และคู่สมรส ซึ่งต่างจะมีสิทธิรับมรดกเสมือนหนึ่งเป็นผู้สืบสันดานคนหนึ่ง เช่น ผู้ตาย มีภริยา 1 คน มีลูก 2 คน มีพ่อ แม่ ในกรณีนี้มรดกจะแบ่งกันระหว่าง ภริยา ลูก และพ่อแม่คนละเท่าๆ กัน คือคนละหนึ่งในห้า แต่ถ้าลูกคนใดตายไปก่อนเจ้ามรดก และลูกคนนั้นมีลูก หรือมีหลาน ลูกหรือหลานเหล่านั้นก็จะรับมรดกแทนที่พ่อของตนซึ่งเรียกว่าผู้รับมรดกแทนที่
-
ถ้าผู้ตายไม่มีผู้สืบสันดานและผู้สืบสันดานไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ แต่มีบิดามารดา มรดกย่อมตกไปยังคู่สมรสครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งตกเป็นของบิดามารดา โดยทายาทลำดับถัดๆ ไปจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลย แต่ถ้าบิดามารดาตายไปก่อน ก็เป็นอันจบกันไป จะมีการรับมรดกแทนที่บิดามารดาไม่ได้ มรดกย่อมตกไปสู่ทายาทลำดับ 3 ต่อไป
-
สำหรับทายาทลำดับ (3) คือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ในกรณีนี้คู่สมรสจะได้รับมรดกไปครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน มีกี่คนก็แบ่งไปเท่า ๆ กัน ถ้าคนหนึ่งคนใดตายไปก่อนเจ้ามรดก ถ้ามีลูกหลาน ลูกหลานก็เข้ามารับมรดกแทนที่กันต่อๆ ไปจนสุดสาย
-
ถ้าไม่มีทายาทลำดับ (3) และไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ มรดกย่อมตกไปสู่ทายาทลำดับ (4) คือ พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ถ้าเป็นกรณีนี้มรดกจะแบ่งให้คู่สมรสก่อน 2 ใน 3 ส่วน ที่เหลือค่อยให้ทายาทลำดับ (4) ซึ่งต้องไปแบ่งกันเองคนละเท่าๆ กัน และก็เช่นเดียวกับทายาทลำดับ (3) คือ ถ้าใครตายไปก่อน มรดกของคนนั้นก็จะถูกทายาทของตนรับมรดกแทนที่ต่อๆ ไปจนสุดสาย
-
ถ้าไม่มีทายาทลำดับ (4) และไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ มรดกจะตกไปสู่ทายาทลำดับ (5) คือ ปู่ย่าตายาย ถ้าเป็นกรณีนี้มรดกจะแบ่งให้คู่สมรสก่อน 2 ใน 3 ส่วนเหมือนเดิม ที่เหลือค่อยเอาไปปแบ่งกันในระหว่างปู่ ย่า ตา ยาย ถ้าใครตายก่อนก็เป็นอันหมดสิทธิไป เพราะจะไม่มีการรับมรดกแทนที่เหมือนทายาทลำดับอื่นๆ
-
ถ้าไม่มีปู่ย่าตายาย มรดกจะตกไปสู่ทายาทลำดับ (6) คือ ลุง ป้า น้า อา ถ้าเป็นกรณีนี้มรดกจะแบ่งให้
คู่สมรสก่อน 2 ใน 3 ส่วน ที่เหลือจึงจะนำมาแบ่งปันกันกับลุง ป้า น้า อา ถ้าใครตายไปก่อน มรดกของคนนั้นก็จะถูกทายาทของตนรับมรดกแทนที่ต่อๆ ไปจนสุดสาย
-
ถ้าไม่มีทายาททั้ง 6 ลำดับและไม่มีผู้รับมรดกแทนที่เหลืออยู่เลย คงเหลือแต่คู่สมรสคนเดียว มรดกทั้งหมดจะตกได้แก่คู่สมรส
- แต่ถ้าแม้แต่คู่สมรสก็ไม่มี ทายาทก็ไม่มีสักลำดับเดียว ทั้งยังมิได้ทำพินัยกรรมไว้ด้วย มรดกย่อมตกได้แก่แผ่นดินครับ
คงได้ภาพคร่าวแล้วนะครับว่าถ้าไม่ทำพินัยกรรม ทรัพย์ของเราจะไปอยู่ที่ใครบ้าง เห็นอย่างนี้แล้ว แนะนำทำพินัยกรรมดีกว่านะครับ
อ้อ มีคนถามมา อย่างหลวงพ่อคูณที่ท่านละสังขาร ทำพินัยกรรมได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ครับ ถ้าผู้ตายเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินของท่านที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ท่านจะทำพินัยกรรมยกให้ใครก็ได้ครับ แต่ถ้าท่านไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินเหล่านั้นจะตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของท่าน กรณีหลวงพ่อคูณก็คงเป็นวัดบ้านไร่ครับ โดยจะไม่ตกไปยังทายาทโดยธรรมทั้งปวง แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินที่ท่านมีอยู่ก่อนอุปสมบท ย่อมตกไปเป็นของทายาทได้เช่นเดียวกับคนธรรมดาทั่วไปครับ
สาธิต บวรสันติสุทธิ์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
บ.อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
ความคิดเห็นของท่านเกี่ยวกับ “เว็บไซต์เงินทองต้องวางแผน”
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์เงินทองต้องวางแผน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์เงินทองต้องวางแผน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด