ช่วงดัชนีหุ้นไทยและราคาหุ้นมีแนวโน้มทิศทางการเคลื่อนไหวชัดเจน หรือเรียกว่ามี trend โดยเฉพาะ trend ขาขึ้น นักลงทุนได้ประโยชน์จากราคาหุ้นที่ปรับขึ้น ในทางกลับกันหากดัชนีหุ้นไทยและราคาหุ้นเป็น trend ขาลง นักลงทุนที่ยืมหลักทรัพย์มาขาย (Short Sell) รวมทั้งนักลงทุนที่เปิดสถานะ Short ในตราสารอนุพันธ์จะได้ประโยชน์จากสภาวะดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีสภาวะหนึ่งที่เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่ไม่น่าจะได้ประโยชน์มากนัก นั่นคือ ภาวะตลาดแกว่งออกข้าง (Sideways) เป็นภาวะตลาดลังเล ไม่ตัดสินใจเลือกทิศทางใดทิศทางหนึ่ง อาจเป็นเพียงไม่กี่วัน สัปดาห์เดียวหรืออาจกินระยะเวลายาวหลายเดือน อีกทั้ง การแกว่ง Sideways อาจเป็นได้ทั้งการอยู่นิ่งๆ เคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ หรือแกว่งผันผวนแรงในกรอบกว้าง แล้วกลับมาอยู่ที่เดิมก็เป็นได้
หากย้อนกลับไปดูการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทย ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา (ภายหลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง) พบว่า ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหว Sideways แบบชัดเจน 7 ช่วงเวลา
ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจนว่าการ Sideways ของดัชนีหุ้นไทยในแต่ละครั้ง ท้ายที่สุดแล้วเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 10% เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่ค่อนข้างกินระยะเวลานาน จนนักลงทุนอาจทนไม่ไหว ต้องออกจากตลาดไป แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการแกว่งออกข้างในแต่ละครั้งค่อนไปในทาง “เชิงบวก” หรือ “Sideways up” มากกว่า “เชิงลบ” หรือ “Sideways down” โดย 7 ครั้งที่ผ่านมา เป็น Sideways up 5 ครั้ง และ Sideways down เพียง 2 ครั้ง หรือคิดเป็นโอกาสที่ดัชนีแกว่งเชิงบวกกว่า 71%
อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะตลาด Sideways ค่อนไปในทางเชิงบวกมากกว่า แต่ด้วยผลตอบแทนที่ไม่จูงใจ นักลงทุนอาจไม่สนใจลงทุนในช่วงนี้ แต่สามารถใช้โอกาสนี้ในการค้นหาหมวดธุรกิจที่มักเคลื่อนไหวได้ดีกว่าตลาดในภาวะ Sideways
หากย้อนกลับไปดูการเคลื่อนไหวของดัชนีรายหมวดธุรกิจในแต่ละช่วงเวลา พบว่าหมวดธุรกิจที่มักจะปรับขึ้นได้ดีกว่าตลาด หรือ Outperform 3 ลำดับแรก คือ หมวดฯ พาณิชย์ (COMM) มีโอกาสที่ดัชนีปรับขึ้นถึง 86% ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 21% ตามด้วย หมวดฯ การแพทย์ (HELTH) โอกาสที่ดัชนีปรับขึ้น 71% ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 58% ถัดมาคือ หมวดฯ อาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) โอกาสที่ดัชนีปรับขึ้น 71% เช่นกัน ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยราว 17%
แม้ในภาวะตลาด Sideways ยังสามารถหาหมวดธุรกิจที่สามารถ Outperform ตลาดได้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีวิธีการใดที่สามารถนำมาพยากรณ์อนาคตได้แม่นยำ 100% การลงทุนควรต้องมีวินัยและคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงเป็นลำดับแรก
หนังสือ “สรรค์สร้างกลยุทธ์การลงทุน ด้วยการวิเคราะห์เชิงปริมาณ”
เขียนโดย ภราดร เตียรณปราโมทย์
พบชัย ภัทราวิชญ์
ความคิดเห็นของท่านเกี่ยวกับเว็บไซต์ “ห้องเรียนนักลงทุน”
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์ห้องเรียนนักลงทุน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์ห้องเรียนนักลงทุน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด