ถึงเวลาใกล้สิ้นปีอย่างนี้ มนุษย์เงินเดือนต่างก็เฝ้ารอให้ถึงวันหยุดฉลองเทศกาลปีใหม่ แต่ยังมีอีกหลายคนที่ภารกิจปีนี้ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังไม่ได้ซื้อ RMF และถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ลังเลว่าจะซื้อ RMF กองไหนดี โปรดรีบเลย เดี๋ยวจะไม่ทันการณ์
จะว่าไปแล้ว มนุษย์เงินเดือนหลายคนยังเมิน RMF เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อวัยเกษียณ และยิ่งเป็นกองทุนที่มีเงื่อนไขต้องดูกันให้ละเอียด แถมถ้าทำผิดเงื่อนต้องโดนกรมสรรพากรปรับ ยิ่งทำให้คิดแล้วคิดอีก
อย่างไรก็ตาม หากมองให้ดีแล้วจะพบว่า RMF ถูกออกแบบมาให้เป็นแหล่งออมเงินเพื่อมีไว้ใช้อย่างเพียงพอในวัยเกษียณ แถมระหว่างทางที่ซื้อก็ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอีกด้วย ที่น่าสนใจไปกว่านั้นเห็นจะเป็นเงื่อนไขยืดหยุ่น คือ ซื้อได้ขั้นต่ำเพียง 5,000 บาท หรือ 3% ของรายได้ในปีนั้นๆ (แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะต่ำกว่า) คิดเป็นเงินลงทุนเดือนละไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนส่วนใหญ่ที่ซื้อ RMF เพราะอยากลดหย่อนภาษี จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า “ถ้าอยากลดหย่อนภาษีเยอะๆ ก็ซื้อเยอะๆ” บางคนบอกว่าสิ้นปีนี้มีเงินเหลือ ขอจัดเต็มซื้อ RMF สัก 7 แสนบาท ได้ไหม นี่เป็นความเข้าใจที่ผิด
ก่อนตัดสินใจซื้อ RMF ต้องดูเงื่อนไขให้ดีๆ เพราะกรมสรรพากรกำหนดว่าสามารถซื้อ RMF แต่ละปีได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในปีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
แต่เดี๋ยวก่อน ไม่ใช่ว่าจะซื้อ RMF ได้เต็มพิกัด 500,000 บาท ต้องมาดูก่อนว่าได้ลงทุนในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือประกันชีวิตแบบบำนาญหรือไม่
ตามสูตร RMF + กบข. + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนครูโรงเรียนเอกชน + ประกันชีวิตแบบบำนาญ รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท ดังนั้น ก่อนซื้อ RMF อย่าลืมคำนวณก่อนว่ามีเงินสะสมเหล่านี้ในปีนั้นๆ แล้วเท่าไร เพื่อป้องกันไม่ให้ซื้อเกิน
ทีนี้ มาถึงขั้นตอนการเลือกซื้อ RMF ว่าจะเลือกกองไหนดี หลักๆ ก็ดูระดับความเสี่ยงของตัวเอง นโยบายการลงทุน ค่าธรรมเนียม นโยบายการจ่ายเงินปันผล ผลงานผู้จัดการกองทุน เป็นต้น และที่พลาดไม่ได้ที่ต้องดู ก็คือ ผลงานแต่ละกองทุนว่าเป็นอย่างไร
โดยดูผลตอบแทนย้อนหลังแล้วเปรียบเทียบกับกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกัน ถึงแม้ผลตอบแทนย้อนหลังจะไม่ได้การันตีผลตอบแทนในอนาคต แต่อย่างน้อยก็พอมองออกว่าจากนี้ไปผลงานจะเป็นอย่างไร ดังนั้น ควรดูผลตอบแทนย้อนหลังไปหลายๆ เช่น 5 ปี 10 ปี หรือหากเป็นไปได้ดูกันตั้งแต่ปีแรกนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน
กองทุนที่ดีควรสร้างผลตอบแทนให้เติบโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และนี่คือ 10 กองทุน RMF ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นที่สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีดีที่สุดในรอบ 10 ปี
กองทุน |
ผลตอบแทนเฉลี่ย 10 ปี (%) |
ทิสโก้หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ชนิดหน่วยลงทุน A |
16.31 |
ภัทร หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ |
16.26 |
กรุงศรีหุ้นปันผลเพื่อการเลี้ยงชีพ |
16.24 |
บัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ |
15.87 |
อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด สมาร์ทแคปปิตอล เพื่อการเลี้ยงชีพ |
15.58 |
หุ้นคุณค่า เพื่อการเลี้ยงชีพ |
15.39 |
ยูโอบี ตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ |
15.31 |
กรุงศรีอิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ |
13.36 |
บัวหลวงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเลี้ยงชีพ |
13.18 |
แอสเซทพลัส ตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ |
11.87 |
ที่มา : Morningstarthailand (ข้อมูล ณ 8 ตุลาคม 2561)
ฐิติเมธ โภคชัย
ผู้บริหารงาน ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ความคิดเห็นของท่านเกี่ยวกับเว็บไซต์ “ห้องเรียนนักลงทุน”
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์ห้องเรียนนักลงทุน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์ห้องเรียนนักลงทุน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด