ธรรมชาติของหุ้นปันผล (Dividend Stock) คือ หุ้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนในรูปของกระแสเงินสด ให้กับผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ ด้วยอัตราผลตอบแทนในระดับที่มีความเหมาะสม
โดยการจ่ายเงินปันผลจะเป็นการจ่ายมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ กำไรสุทธิที่เกิดขึ้นในระหว่างงวด หรือ การจ่ายออกมาจาก กำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร และที่สำคัญบริษัทที่จ่ายเงินปันผลได้จะต้องเป็นบริษัทที่มีกระแสเงินสด และ ฐานะการเงินที่แข็งแรง ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว Dividend Stock จึงมักจะกลายเป็นตัวเลือกที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ภายใต้สภาพแวดล้อม และเป้าหมายการลงทุนที่หลากหลายเช่น
· ภาวะตลาดที่ผันผวนในทิศทางที่ปรับลดลง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้โอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการปรับขึ้นของราคาหุ้น (Capital Gain) ทำได้ยากขึ้น หรือต้องรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นกว่าปกติ การลงทุนในหุ้นที่จ่ายเงินปันผลจึงเป็นตัวเลือกที่ดี เนื่องจากขณะที่ได้ลงทุนซื้อหุ้นปันผลนักลงทุนก็พอที่จะทราบถึงอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลต่อปี (Dividend Yield) ที่ควรจะได้รับหากถือหุ้นในระยะยาว อย่างเช่น
หุ้น AAA มีประวัติการจ่ายเงินปันผลที่ต่อเนื่องมาหลายปี โดยจ่ายประมาณ 2 บาท/หุ้น และจากการประเมินแนวโน้มในอนาคต ก็เชื่อว่ายังสามารถจ่ายได้ในอัตราไม่น้อยกว่าเดิม ราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ที่ 40 บาท หากนักลงทุนซื้อหุ้นในราคาดังกล่าว ก็พอที่จะคาดหมายได้ว่า นักลงทุนจะมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลประมาณ 5% ต่อปี (เงินปันผลรับ 2 บาท/หุ้น หารด้วย 40 บาท ซึ่งเป็นราคาหุ้นที่เข้าลงทุน) ถือเป็น Dividend Yield ที่นักลงทุนควรได้รับไม่ว่าราคาหุ้นจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร
· ภาวะที่ตัวเลือกการลงทุนอย่างตราสารหนี้ หรือเงินฝากให้ผลตอบแทนต่ำ สภาพแวดล้อมดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนในช่วงตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปี 2559 (ปัจจุบัน) เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่แทบทุกประเทศทั่วโลกใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ส่งผลทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจทั่วโลกปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้เงินลงทุนไหลบ่าเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์แทบทุกประเภท ผลักดันให้ราคาสินทรัพย์ ทั้งพันธบัตร ตราสารหนี้ ตราสารทุน และ สินค้าโภคภัณฑ์หลักๆ ปรับตัวสูงขึ้น และเมื่อราคาสูงขึ้นก็ไปกดทำให้อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ดังกล่าวลดต่ำลงมาก หรืออีกทางหนึ่งก็เพิ่มความเสี่ยงในการลงทุนให้สูงขึ้น โดยในส่วนของประเทศไทย พบว่าปัจจุบัน (เม.ย.2559) อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตร (Bond Yield) ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดย Bond Yield อายุ 5 ปี และ 10 ปี ต่ำกว่า 2% และไม่ต่างกันมาก ขณะที่ Bond Yield อายุ 1 ปี ลงไปต่ำกว่า 1.4% เทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้การลงทุนในหุ้นปันผล (Dividend Stock) ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่า 3% ได้รับความสนใจมากขึ้น
· การจัดพอร์ตเพื่อสร้างกระแสเงินสดต่อเนื่องในระยะยาว ผลตอบแทนหลักที่ได้จากการลงทุนในหุ้นมี 2 รูปแบบหลักคือ
1. ผลตอบแทนที่ได้จากราคาหุ้นที่สูงขึ้น (Capital Gain) ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนส่วนที่ไม่แน่นอนสูง เหตุเพราะองค์ประกอบที่ทำให้ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงมีอยู่มากมายทั้งที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐาน อธิบายได้หรืออธิบายไม่ได้ และเป็นผลตอบแทนที่ได้รับเพียงครั้งเดียวเมื่อขายหุ้นออกมา
2. ผลตอบแทนอีกรูปแบบหนึ่งได้แก่ผลตอบแทนที่ได้จากเงินปันผลรับ (Dividend Yield) ซึ่งเป็นผลตอบแทนการลงทุนประเภทที่มีความแน่นอนมากกว่า สามารถคาดการณ์ได้จากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่เข้าลงทุน และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นผลตอบแทนที่มีโอกาสได้รับตลอดระยะเวลาที่ถือครองหุ้น ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ในการจัดพอร์ตสำหรับการลงทุนระยะยาว จึงควรที่จะต้องมี Dividend Stock เก็บไว้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของพอร์ต เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้กับนักลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และ ต่อเนื่อง
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีขีดความสามารถในการจ่ายเงินปันผลสูง
จากการติดตามพฤติกรรมการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีขีดความสามารถในการจ่ายเงินปันผล อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยในเชิงของอัตราผลตอบแทนพบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับเหนือ 3% ขณะที่เมื่อพิจารณาจากจำนวนของบริษัทที่ประกาศจ่ายเงินปันผล ก็พบว่าประมาณ 70% ของบริษัทจดทะเบียน สามารถมีการจ่ายเงินปันผล โดยในงวดผลประกอบการปี 2558 มีจำนวนบริษัทที่ประกาศจ่ายเงินปันผลรวม 496 บริษัท โดยที่มีจำนวนถึง 224 บริษัทที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้มากกว่าปีละ 1 ครั้ง ส่วนจำนวนบริษัทที่ไม่มีการประกาศจ่ายเงินปันผลมีเพียง 208 บริษัท คิดเป็นสัดส่วนของจำนวนบริษัทที่จ่ายเงินปันผลได้ 70.5% ส่วนปีที่มีสัดส่วนจำนวนบริษัทที่จ่ายเงินปันผลได้สูงที่สุดคือปี 2555 มีสัดส่วนจำนวนบริษัทที่จ่ายเงินปันผล 73.8% ส่วนปีที่มีสัดส่วนบริษัทจ่ายเงินปันผลต่ำที่สุดคือปี 2549 และปี 2551 มีสัดส่วนจำนวนบริษัทอยู่ที่ 66.8% และ 66.9% ตามลำดับ โดยปี 2549 เป็นปีที่สถานการณ์การเมืองในประเทศมีความรุนแรง และตามมาด้วยการเกิดรัฐประหาร ส่วนปี 2551 เป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติหนี้สินของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ (Hamburger Crisis)
สำหรับอัตราการจ่ายเงินปันผลเทียบกับฐานกำไรสุทธิ (Dividend Payout Ratio) เฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียน พบว่าอยู่ในช่วง 45 – 54% โดยหากอยู่ในภาวะที่สถานการณ์ปกติก็จะอยู่ในช่วง 45 - 46% คิดเป็นเม็ดเงินจ่ายปันผลช่วง 3.2 – 3.8 แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับฐานกำไรสุทธิรวมของบริษัทจดทะเบียน แต่ในบางปี Dividend Payout Ratio อาจสูงขึ้นไปถึง 50 - 54% แต่เม็ดเงินจ่ายปันผลไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากองค์ประกอบในเรื่องคุณภาพกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียน อย่างเช่นในผลประกอบการงวดปี 2558 บริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิ 6.97 แสนล้านบาท (ไม่รวม SSI) ซึ่งเป็นปีที่บริษัทจดทะเบียนมีการบันทึกรายการค่าใช้จ่ายพิเศษเข้ามาในงบการเงินเป็นจำนวนมากทำให้ฐานกำไรสุทธิอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ แต่เม็ดเงินจ่ายปันผลก็ยังคงสูงถึง 3.8 แสนล้านบาท (เทียบกับปี 2557 ที่ 3.6 แสนล้านบาท) คิดเป็น Dividend Payout Ratio 54% หมายความว่า บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับเม็ดเงินปันผลที่จ่ายออกมามากกว่า Dividend Payout Ratio ซึ่งถือเป็นหลักประกันที่ดีสำหรับผู้ถือหุ้นในการที่จะได้รับเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
รูปแบบการเคลื่อนไหวของ SETHD คล้ายกับ SET Index
ในด้านการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกลุ่ม Dividend Stock นักลงทุนสามารถติดตามภาพรวมผ่านดัชนี SETHD (SET High Dividend 30 Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตามราคาตลาด และ สภาพคล่องในการซื้อขายสูง รวมทั้งมีการจ่ายเงินปันผลสูงและต่อเนื่อง SETHD เริ่มคำนวณครั้งแรกเมื่อ 4 ก.ค. 2554 เริ่มต้นจาก 1000 จุด โดยกระบวนการคัดกรองหุ้น 30 บริษัทที่จะเข้ามาคำนวนใน SETHD จะคัดจากหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม SET100 ที่มีการจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสด (Cash Dividend) ต่อเนื่อง 3 ปีย้อนหลัง โดยที่ต้องมี Dividend Payout Ratio ไม่เกิน 85% หลังจากนั้นนำมาเรียงลำดับตาม Dividend Yield (ใช้ Dividend Yield เฉลี่ยรายวันย้อนหลัง 30 วัน) ทั้งนี้รายชื่อหุ้นที่จะนำเข้ามาคำนวน SETHD จะปรับปรุงปีละ 2 ครั้งคือ เดือน มิถุนายน เพื่อนำเข้ามาคำนวณดัชนีตั้งแต่ 1 กรกฎาคม และ เดือน ธันวาคม เพื่อนำมาคำนวณดัชนีตั้งแต่ 1 มกราคม
(สำหรับนักลงทุนที่สนใจรายละเอียดเรื่องการคำนวณดัชนี ประเภทต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถหาอ่านได้จาก เอกสาร เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำดัชนีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยฝ่ายพัฒนาธุรกิจตราสารหนี้และอื่นๆ กรกฎาคม 2558)
การเคลื่อนไหวของ SETHD กับ SET Index
โดยภาพรวมรูปแบบการเคลื่อนไหวของ SETHD กับ SET Index ถือว่ามีความสอดคล้องกัน เพียงแต่มีจุดเปลี่ยนในช่วงปลายปี 2554 ซึ่งตลาดหุ้นไทยถูกขับเคลื่อนอย่างรุนแรงจาก Fund Flow และตามมาด้วยการเก็งกำไรในระดับสูงของหุ้นที่อยู่นอก SET100 ทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นไปอย่างรวดเร็ว และฉีกตัวออกจาก SETHD มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบการเคลื่อนไหวยังใกล้เคียงกัน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหุ้นที่ถูกคัดกรองเข้ามาอยู่ใน SETHD เป็นหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม SET100 อยู่แล้ว ซึ่งแสดงว่าเป็นหุ้นที่มี Market Cap. ลำดับต้นๆ ของตลาดหุ้นไทย
เคล็ดสำหรับการลงทุนในหุ้นปันผล
สำหรับเคล็ดลับในการหาจังหวะลงทุนในหุ้น Dividend Stock ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส จำกัด ได้ศึกษาข้อมูลในเชิงสถิติย้อนหลังไป 5 ปี พบว่า จังหวะการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดสำหรับ Dividend Stock คือ การซื้อก่อนที่จะขึ้นเครื่องหมาย XD ราว 2 เดือน ซึ่งอธิบายได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ราคาหุ้นยังไม่ตอบสนองต่อความคาดหวังว่าจะจ่ายเงินปันผล ส่วนจังหวะที่ขายออกจากข้อมูลทางสถิติได้ผลออกมาว่า ให้ขายวันที่ขึ้นเครื่องหมาย XD ทั้งนี้จังหวะการลงทุนดังกล่าว ถือเป็นเพียงกลยุทธ์การทำกำไรจาก Dividend Stock ระยะสั้น ส่วนนักลงทุนระยะยาว ผลการศึกษาดังกล่าวถือเป็นเพียงเคล็ดเล็กน้อยในการหาจังหวะเข้าลงทุน แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องลงแรงมากกว่า คือการศึกษาข้อมูลในเชิงพื้นฐานจนเข้าใจบริษัทลึกซึ้ง ก่อนการเข้าลงทุน
มาถึงจุดนี้อาจเริ่มมองเห็นว่า การมี Dividend Stock อยู่ในพอร์ตการลงทุน น่าจะเป็นเรื่องที่ดี และจำเป็น สำหรับการจัดพอร์ตเพื่อการลงทุนระยะยาว คำถามที่จะตามมาก็คือแล้วควรจะมีหุ้นปันผลอยู่ที่ระดับเท่าไรในพอร์ต คำตอบของเรื่องนี้อาจไม่ได้มีคำตอบเดียวที่เหมาะสำหรับนักลงทุนทุกท่าน แต่อาจจะพอให้แนวคิดได้ว่า ในช่วงที่นักลงทุนยังอยู่ในวัยทำงาน และมีรายได้ประจำอยู่ สัดส่วนการถือหุ้นปันผล ซึ่งเป็นการลงทุนที่คาดหวังจะได้รับกระแส เงินสดเข้ามาสม่ำเสมออาจจะอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากโดยพอร์ตการลงทุนอาจเน้นไปที่ Growth Stock มากหน่อย แต่สำหรับนักลงทุนที่ได้ผ่านวัยทำงานมาแล้ว และต้องการกระแสเงินสดเป็นดอกผลไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน พอร์ตการลงทุนในหุ้น ก็ควรจะต้องเพิ่มสัดส่วนของหุ้น Dividend Stock ขึ้นมา
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน)
ความคิดเห็นของท่านเกี่ยวกับเว็บไซต์ “ห้องเรียนนักลงทุน”
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์ห้องเรียนนักลงทุน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด
ท่านได้รับความรู้จากเนื้อหาของ เว็บไซต์ห้องเรียนนักลงทุน เพิ่มขึ้น มากน้อยเพียงใด
ท่านมีความพึงพอใจต่อการใช้งาน มากน้อยเพียงใด